ในวันพฤหัสบดี สวีเดนได้ก้าวขึ้นเป็นสมาชิกประเทศที่ 32 ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดความเป็นกลางของประเทศที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในยุโรปที่พุ่งสูง ภายหลังการส่งกองทัพบุกยูเครนเมื่อต้นปี 2022
นายกรัฐมนตรีสวีเดน อุลฟ์ คริสเตอร์ชอน และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีที่มีการนำฝาก “ภาคยานุวัติสาร” (instrument of accession) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรนี้ของสวีเดนไว้กับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อความว่า “นาโต้คือกลุ่มพันธมิตรด้านกลาโหมที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และจุดที่มีความสำคัญในวันนี้คือ การทำให้แน่ใจว่า พลเมืองของเรามีความปลอดภัยมั่นคง หลังมีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรของเราเมื่อ 75 ปีก่อนจากเศษซากที่เหลือของสงครามโลกครั้งที่ 2”
สวีเดนและฟินแลนด์ที่เข้าร่วมนาโต้เมื่อปีที่แล้ว ต่างก้าวออกมาจากจุดยืนความเป็นกลางทางทหารที่ดำเนินมายาวนานอันเป็นเหมือนตราสัญลักษณ์ของนโยบายต่างประเทศในยุคสงครามเย็นของประเทศกลุ่มนอร์ดิก หลังรัสเซียรุกรานยูเครน
การสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดนติดอยู่ในกระบวนการอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากคำคัดค้านของตุรกีและฮังการี โดยตุรกีแสดงความกังวลว่า สวีเดนให้ที่พักพิงและไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดที่รัฐบาลกรุงอังการามองว่าเป็น กลุ่มก่อการร้าย ขณะที่ นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี แสดงจุดยืนสนับสนุนรัสเซียและไม่เห็นด้วยกับความมุ่งมั่นของกลุ่มพันธมิตรนี้ที่สนับสนุนยูเครน
และหลังต้องล่าช้ามาหลายเดือน ตุรกียอมให้สัตยาบันรับรองการเข้าเป็นสมาชิกของสวีเดนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนฮังการีก็ทำตามในสัปดาห์นี้เอง
รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี นายกฯ คริสเตอร์ชอน มีกำหนดเดินทางเยือนทำเนียบขาวก่อนจะเข้าร่วมการแถลงนโยบายและผลงานรัฐบาล “State of the Union” ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในฐานะแขกของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วย
มีการคาดกันว่า สุนทรพจน์ที่ปธน.ไบเดน จะกล่าวต่อที่ประชุมสภาคองเกรสนั้นจะพูดถึงการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดน ว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ความตั้งใจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่จะสร้างความแตกแยกและทำให้กลุ่มพันธมิตรนาโต้อ่อนแอลงนั้นล้มเหลว โดยมีสาเหตุมาจากการรุกรานยูเครน
ปธน.ไบเดน ยังน่าจะใช้การตัดสินใจเข้าร่วมนาโต้ของสวีเดนเป็นเหตุผลในการโน้มน้าวสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันที่ยังลังเลอยู่ยอมอนุมัติงบช่วยเหลือทางทหารที่ค้างอยู่ให้กับยูเครนเสียที
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น