นกเพนกวินสายพันธุ์ชินสแตรปที่อาศัยอยู่บริเวณทวีปแอนตาร์กติก เป็นนกที่ไม่สามารถบินได้ และใช้ปีกเพื่อว่ายน้ำ เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยพบว่าพวกมันมีพฤติกรรมการนอนหลับระยะสั้นเพียงแค่ครั้งละราวสี่วินาที และในแต่ละวันจะทำซ้ำๆ เช่นนี้เป็นจำนวนหลายพันครั้ง เพื่อที่จะปกป้องไข่และเหล่าลูกเพนกวินแรกเกิด
การค้นพบดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science โดยระบุว่า เหล่าเพนกวินที่มีลูกอ่อนจะ “หลับระยะสั้น” หรือ “การหลับใน” (Microsleeps) รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 11 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์
นีลส์ รัทเทนบอร์ก นักวิจัยด้านการนอนหลับ จากสถาบัน Max Planck Institute for Biological Intelligence ประเทศเยอรมนี ที่ช่วยเขียนงานวิจัยนี้ระบุว่า พฤติกรรมที่ราวกับการกระพริบตาของเหล่าเพนกวิน เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ในแต่ละครั้งจะทำพฤติกรรมเช่นนี้นานหลายสัปดาห์
รัทเทนบอร์กกล่าวว่า “ความน่าแปลกใจก็คือ พวกมันยังใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และเลี้ยงลูก ๆ ได้เป็นอย่างดี”
ตามธรรมชาติแล้ว นกเพนกวินชินสแตรปมักวางไข่ในเดือนพฤศจิกายน โดยเลือกวางไข่ในรังที่สร้างจากหินขนาดเล็ก เหล่าพ่อแม่จะแยกหน้าที่การดูแล ตัวหนึ่งจะเฝ้ารังและอีกฝ่ายออกหาปลาเพื่อมาเป็นอาหาร
ศัตรูตัวสำคัญของเหล่าพ่อแม่นกเพนกวินก็คือ นกสคัว นกสีน้ำตาลขนาดใหญ่ และมีพฤติกรรมกินไข่และลูกเพนกวิน นอกจากนี้เพนกวินที่โตเต็มวัยตัวอื่น อาจที่จะพยายามขโมยหินก้อนเล็กออกจากรังอีกด้วย
ในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ นักวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคลื่นสมองเหล่านกเพนกวินชินสแตรปวัยผู้ใหญ่ จำนวน 14 ตัว บนเกาะคิงจอร์จ นอกชายฝั่งแอนตาร์กติกา ที่เป็นแหล่งผสมพันธุ์ เป็นเวลา 11 วัน
วอน ยัง ลี นักชีววิทยาจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งเกาหลี (KOPRI) ระบุว่า จากการสำรวจภาคสนามเขาสังเกตเห็นนกเพนกวินมีพฤติกรรมการกระพริบตาถี่ในฤดูผสมพันธุ์ แต่ทีมงานต้องการบันทึกคลื่นสมองเพื่อที่จะยืนยันว่าพวกมันกำลังหลับอยู่
ยัง ลี ระบุว่า “สำหรับนกเพนกวินเหล่านี้ การหลับระยะสั้น ๆ คือการช่วยฟื้นฟูการทำงานบางส่วนของร่างกาย” และเชื่อว่าพวกมันจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หากไม่ทำเช่นนี้
อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่ได้รวบรวมข้อมูลการนอนหลับของพวกมันนอกฤดูผสมพันธุ์ แต่คาดว่าจะหลับได้นานขึ้นในช่วงเวลาอื่นของปี
พอล-อองตวน ลิบูเรล นักวิจัยด้านการนอนหลับ จากศูนย์วิจัย Lyon Neuroscience Research Center (CRNL) ประเทศฝรั่งเศส ผู้ช่วยเขียนงานวิจัย ชี้ว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่าประโยชน์ของการนอนหลับระยะสั้นของเหล่านกเพนกวิน เทียบได้กับการนอนหลับในระยะเวลาที่นานขึ้นหรือไม่ และยังไม่รู้ว่านกเพนกวินสายพันธุ์อื่นมีพฤติกรรมการนอนหลับระยะสั้นเช่นนี้หรือเปล่า
ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า การนอนหลับระยะสั้นของเพนกวินชินสแตรป เป็น “การปรับตัวที่น่าทึ่ง” นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมการนอนหลับของสัตว์ที่ปรับตัวเป็นพิเศษ อย่างเช่น นกโจรสลัด (Frigatebird) สมองของมันจะหลับเพียงครึ่งเดียวขณะที่บินอยู่ในอากาศ แต่นักวิจัยยกให้การนอนระยะสั้นของเพนกวินชินสแตรป เป็นพฤติกรรมใหม่ของการนอนที่ถือว่าสุดขั้ว
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น