ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ค้นพบถิ่นที่อยู่ของเพนกวินจักรพรรดิอีกหลายแห่ง ในแอนตาร์กติก หรือ บริเวณขั้วโลกใต้ โดยอ้างอิงจากหลักฐานสำคัญ คือ พิกัดของ "มูลเพนกวิน" ที่บันทึกได้จากอวกาศ
การศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อวันพุธ จากทีมนักวิทยาศาสตร์แห่ง British Antarctic Survey พบที่อยู่อาศัยเพนกวินจักรพรรดิอีก 61 แห่งบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 11 แห่งจากที่เคยทำการสำรวจเอาไว้ โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ของยุโรป ที่ระบุพิกัดของมูลเพนกวิน หรือ กัวโน (guano) ปริมาณมากในพื้นที่เหล่านั้น
ปีเตอร์ เฟรทเวลล์ นักภูมิศาสตร์และหัวหน้าทีมวิจัยของ British Antarctic Survey บอกว่านี่คือข่าวดี เพียงแต่ถิ่นที่อยู่ใหม่ๆที่ค้นพบนั้นเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆเท่านั้น และคิดเป็นสัดส่วนประชากรเพนกวินที่เพิ่มขึ้นมาราว 5-10% ของจำนวนเพนกวินในพื้นที่ จากหลักฐานใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตอนนี้มีเพนกวินจักรพรรดิอยู่ราว 265,500 – 278,500 คู่ หรือราวครึ่งล้านตัวบริเวณขั้วโลกใต้
เพนกวินจักรพรรดิจะหาคู่ ผสมพันธุ์ และฟักไข่ ในพื้นที่ห่างไกลบริเวณขั้วโลกใต้ ที่อุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส ทำให้นักวิจัยต้องพึ่งพาภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม เพื่อระบุพิกัดของเพนกวิน และปัจจุบันเพนกวินจักรพรรดิ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทีมวิจัยบางกลุ่มประเมินว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของเพนกวินจักรพรรดิอาจหดหายไปมากกว่า 30% ภายในช่วงปลายศตวรรษนี้ได้
อีกด้านหนึ่ง ทีมนักอนุรักษ์ธรรมชาติในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ใช้โดรนอินฟราเรด ช่วยค้นหาหมีโคอาลาที่หลบซ่อนอยู่ในป่า เพื่อช่วยเหลือสัตว์สัญลักษณ์ของออสเตรเลีย ที่คาดว่าอาจสูญพันธ์ไปจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในอีก 30 ปีข้างหน้านี้
ปกติแล้วโคอาลาอาศัยอยู่ในป่ายูคาลิปตัส ซึ่งเป็นต้นไม้ให้ที่พักพิงและพวกมันกินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหารอีกด้วย แต่ในช่วงฤดูกาลไฟป่าครั้งที่ผ่านมาซึ่งกินระยะเวลายาวนานผิดปกติเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยของหมีโคอาลา ป่ายูคาลิปตัสทั่วทั้งรัฐถูกทำลายลงไปราว 25% รายงานยังระบุด้วยว่าในบางส่วนของนิวเซาท์เวลส์ ไฟป่าทำลายที่อยู่อาศัยของโคอาลามากถึง 81%
ซึ่งนักอนุรักษ์ธรรมชาติในรัฐนิวเซาท์เวลส์ หวังว่าจะใช้โดรนอินฟราเรด ในภารกิจช่วยเหลือโคอาลาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งช่วยระบุพื้นที่อยู่อาศัยของมันตามธรรมชาติ เพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์โคอาลาต่อไป