ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘สี จิ้นผิง’ ชูความสำเร็จ 10 ปี ‘หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง’ แต่นักวิเคราะห์มองต่างออกไป


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ออกโรงปกป้องความริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ที่มีวาระครบ 10 ปี ในเวทีประชุมว่าด้วยความริเริ่มดังกล่าวที่กรุงปักกิ่งสัปดาห์นี้ ในระหว่างที่บรรดานักวิเคราะห์กลับมีทัศนะที่แตกต่างต่อโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลที่หวังเชื่อมเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาไว้ด้วยกัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ชูความสำเร็จของความริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง หรือ หรือ BRI (Belt and Road Initiative) อันเป็นโปรเจคใหญ่ของเขาในพิธีเปิดการประชุม BRI ที่กรุงปักกิ่งในวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยมีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หนึ่งในแขกคนสำคัญในเวทีประชุมอยู่ข้างกาย ในโอกาสนี้

ผู้นำจีนได้ฉายภาพของผลงานที่สำเร็จลุล่วงในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมทั้งกางแผน 8 ด้านสำคัญที่จีนมุ่งเป้าพัฒนาในอนาคต

ในเวทีประชุมหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ซึ่งหวังจัดประชุมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในระดับโลก แต่กลับเทียบเชิญผู้นำประเทศไม่หนาตาเท่ากับการประชุมครั้งก่อน เกิดขึ้นในช่วงที่โลกกำลังมีรอยร้าวจากสงครามยูเครน และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ

นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลปักกิ่งต้องการให้เวทีนี้ช่วยปรับมุมมองของจีน ในฐานะผู้นำของประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ในสายตาชาวโลก

ยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนแห่ง Stimson Center สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน กล่าวกับวีโอเอว่า “BRI เป็นวาระด้านนโยบายการต่างประเทศของจีนมาโดยตลอด และ[วิสัยทัศน์]ที่ว่ารัฐบาลปักกิ่งได้นำเสนอ[ผ่านโครงการริเริ่ม]ก็คือว่าจีนได้มอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในวงกว้าง”

ผู้นำและตัวแทนจาก 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย (Global South) ซึ่งรวมความถึง บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้และตุรกี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางครั้งนี้ รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่มีการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีสี นอกรอบการประชุมนี้ด้วย จึงถือได้ว่านี่เป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จีนจัดขึ้นครั้งแรก นับตั้งแต่ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสี ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2013 ว่าได้ช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานและสร้างระเบียงเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาขึ้นมา ในระหว่างที่ท่าเรือ ถนนหนทาง และการขนส่งระบบราง ที่ได้สร้างขึ้นภายใต้ความริเริ่มนี้ ได้ช่วยเปิดทางให้สินค้า เงินทุน เทคโนโลยี และผู้คนเชื่อมต่อกันในหลายทวีป

ผู้นำจีนกล่าวในวันพุธ ยกย่องโครงการนี้ว่าได้เปลี่ยนสิ่งที่เป็นแค่พิมพ์เขียวให้กลายเป็นโปรเจคที่แท้จริงขึ้นมาได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ BRI ได้มีการลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ใน 3,000 โครงการ และมีการลงนามความร่วมมือภายใต้ความริเริ่มนี้มากกว่า 200 ฉบับกับกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่าโครงการและการลงทุนภายใต้ BRI ได้สนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประเทศกำลังพัฒนา และเปิดทางให้จีนฉายภาพของตนในฐานะผู้หยิบยื่นเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้ประเทศเหล่านี้

คริสโตฟ เนโดพิล หวัง ผู้อำนวยการ Griffith Asia Institute ในออสเตรเลีย เปิดเผยกับวีโอเอว่า “จีนต้องการเปรียบเทียบโมเดลการพัฒนาของ BRI กับโมเดลการพัฒนาที่ล้มเหลวของชาติตะวันตก” และว่าแบบแผนและรูปแบบการสื่อสารเช่นนี้ได้สะท้อนออกมาในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งด้วย

ในการวิจารณ์อย่างอ้อม ๆ ต่อสหรัฐฯ ปธน.สี ย้ำว่า “การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการจับกลุ่มทางการเมืองไม่ใช่แนวทางของเรา” และว่ารัฐบาลปักกิ่งต่อต้านการเผชิญหน้าในระดับกลุ่ม การลงโทษทางเศรษฐกิจอยู่เพียงฝ่ายเดียว และการแบ่งขั้ว โดยบอกว่า “การมองเห็นการพัฒนาของประเทศอื่นเป็นภัยคุกคามและมองว่าการพึ่งพาทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกันเป็นความเสี่ยงจะไม่ช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือพัฒนาไปได้เร็วขึ้นเลย”

ระหว่างประธานาธิบดีสี พยายามที่จะชูความเหนือกว่าของโมเดลการพัฒนาของจีน นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ในความจริงแล้วผลลัพธ์ใน 10 ปีแรกของความริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางดูแตกต่างอย่างมาก

นิวา เหยา นักวิชาการจาก Global China Hub แห่ง Atlantic Council เปิดเผยกับวีโอเอว่า “จีนต้องการลอกแนวคิดของ[การขับเคลื่อน]การเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศอื่น ๆ แต่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นมากกว่าแค่โครงสร้างพื้นฐาน”

เหยา เสริมว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนถูกขับเคลื่อนโดยส่วนผสมของโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ปริมาณการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศขนานใหญ่ และการแลกเปลี่ยนทักษะ แทนที่จะเป็นการส่งออกโมเดลเศรษฐกิจทั้งก้อนไปต่างประเทศ นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวว่าสิ่งที่จีนได้ทำคือการนำเสนอชัยชนะของแนวคิดด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น “นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโครงการ BRI ถึงไม่ได้ผลมากเท่าใดนัก แม้จะผ่านพ้นมาถึง 10 ปีก็ตาม”

ผลกระทบเชิงลบของโครงการ BRI ใน 10 ปีแรก

ระหว่างที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าจีนมอบการพัฒนาเชิงบวกให้กับโลกผ่านโครงการ BRI ชาติตะวันตกกลับวิจารณ์มาโดยตลอดว่าความริเริ่มนี้ ได้ทิ้งประเทศที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนไว้ข้างหลัง ในการรับมือกับภาระหนี้และความเสื่อมโทรมด้านธรรมชาติอย่างมหาศาล

รายงานที่เผยแพร่โดย Boston University เมื่อต้นเดือนตุลาคม แสดงให้เห็นว่าประเทศที่กู้ยืมจากจีน “ประสบกับภาระหนี้สินจำนวนมาก” ยิ่งไปกว่านั้น โครงการพัฒนาที่ได้เงินทุนจากบริษัทของจีน “แบกรับความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและดินแดนของชนพื้นเมืองที่สูงกว่า” เมื่อเทียบกับโครงการพัฒนาที่ได้เงินทุนกู้ยืมจากธนาคารโลก “อย่างมีนัยสำคัญ”

เหยา จาก Atlantic Council กล่าวว่า โครงการ BRI หลายอย่าง ประสบความล้มเหลวในการทำให้โครงการเกิดขึ้นจริง หรือสร้างปัญหาอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากจีนไม่ได้เข้าไปจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ที่ได้พบผ่านการศึกษาโครงการที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างประเทศ “องค์กรระหว่างประเทศรายอื่น ๆ ได้จัดทำการศึกษาโครงการต่าง ๆ ของ BRI และพบว่าโครงการส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร” และว่า “แม้ว่าโครงการเหล่านี้ทำกำไรได้ อาจมีเงื่อนไขมากมายที่ต้องปฏิบัติตาม ก่อนที่องค์กรระหว่างประเทศจะเข้าไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เหล่านี้ได้”

นักวิชาการจาก Global China Hub เสริมว่า จีนได้ก้าวเข้ามาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ แต่ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ บริษัทจีนมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและการทำลายสิ่งแวดล้อม “ประเทศต้นทางมักไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่”

ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ปธน.สี ให้คำมั่นว่าจะจัดตั้งระบบในการประเมินโครงการลงทุน การตรวจสอบบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ BRI รวมทั้ง “ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อจัดทำการวิจัยและฝึกอบรมเรื่องความโปร่งใสของโครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง”

โครงการริเริ่มที่ “เล็กกว่าเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ส่วนเรื่องความมุ่งมั่นในการสร้างโครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง “ที่มีขนาดเล็กและงดงาม” ผู้นำจีนได้เปิดเผยแผนงาน 8 ด้านสำคัญในวันพุธ ให้คำมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับโลก พร้อมกับกล่าวว่าจีนจะส่งเสริมโครงการริเริ่มนี้ และโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต “ที่มีขนาดเล็กแต่ชาญฉลาด” มากขึ้น

ข้อมูลจาก American Enterprise Institute สถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ ชี้ว่าขนาดของข้อตกลงการลงทุนของ BRI อาจจะมีขนาดลดลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 บริษัทจีนได้ลงนามข้อตกลงการก่อสร้างและการลงทุนภายใต้ความริเริ่ม BRI เป็นมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าระดับช่วงก่อนโควิดระบาดอย่างมาก ที่ช่วงนั้นมีระดับการใช้จ่ายสำหรับโครงการ BRI สูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์เห็นว่าแผนงาน 8 ด้านที่ประกาศมานั้น แสดงให้เห็นว่าแทนที่จีนจะนำความริเริ่มอื่น ๆ มาแทนที่หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง แต่จีนกลับมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงกรอบและขนาดของการลงทุนในโครงการเหล่านี้แทน

เนโดพิล หวัง ผู้อำนวยการ Griffith Asia Institute ในออสเตรเลีย ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ความริเริ่มหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทางจะยังคงมีอยู่ต่อไป และจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในอีกหลายปีจากนี้”

เขาคาดการณ์ว่า จีนมีแนวโน้มที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในโครงการ BRI ระหว่างที่รัฐบาลจีนจะเปลี่ยนโฟกัสของความริเริ่มนี้ไปที่ “โครงการสร้างรายได้” โดยจะมี “โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะในสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG