ความรุนแรงจากการใช้ปืนอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ขบวนพาเหรดในวันหยุด หรือร้านขายอาหาร และยังอาจเกิดขึ้นได้ในรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มือปืนคนหนึ่งเข้าไปก่อเหตุในบริเวณมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนและบาดเจ็บอีก 5 คน และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย 3 คนถูกเพื่อนร่วมชั้นฆ่าตายขณะที่เดินทางกลับมาจากกรุงวอชิงตัน
นอกจากนี้ยังมีการใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ตามรั้วมหาวิทยาลัย อย่างเช่นเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว มีการก่อเหตุโดยใช้มีดคร่าชีวิตนักศึกษา 4 คนจากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ ในขณะที่พวกเขานอนหลับอยู่ในบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน ปัจจุบันยังคงมีการสืบสวนคดีนี้กันอยู่ ส่วนที่รัฐมิชิแกน ชายที่ก่อเหตุยิงนักเรียนฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา และที่รัฐเวอร์จิเนีย ตำรวจได้จับกุมนักเรียนที่ก่อเหตุยิงเพื่อนร่วมชั้นของเขาเอง
ข้อมูลจาก Violence Project ระบุว่า มีการก่อเหตุกราดยิงเก้าครั้งทั้งในหรือรอบ ๆ มหาวิทยาลัยในอเมริกาตั้งแต่ปี 1966
สำหรับเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคในปี 2007 โดยนักศึกษาคนหนึ่งได้สังหารผู้คนไป 32 คนและบาดเจ็บอีก 17 คน
15 ปีต่อมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกฎเกณฑ์บางอย่าง แต่การก่อเหตุกราดยิงก็ยังคงเกิดขึ้น
ความเสี่ยงของความรุนแรงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางมาศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อย่างไร? และมีผลกระทบต่อผู้ที่มีหน้าที่รับสมัครนักเรียนอย่างไรบ้าง?
โบ เบ็นสัน (Beau Benson) ผู้รับสมัครนักศึกษาต่างชาติที่มหาวิทยาลัยนอร์ธ อีสเทิร์น ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดกล่าวว่า นักเรียนที่คิดจะมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ มีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยมากขึ้น หลังจากเหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ส่วนบรรดาพ่อแม่ที่มีความกังวลในเรื่องนี้ก็มักจะมีคำถามว่า ลูกชายหรือลูกสาวของตนจะปลอดภัยหรือไม่ถ้าต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เบ็นสันตั้งข้อสังเกตว่าคำถามเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ข่าวและการเมืองระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ บรรดานักเรียนต่างชาติและผู้ปกครองจะมีความกังวลว่าจะได้การยอมรับจากคนในสหรัฐฯ หรือไม่มากกว่า แต่ในช่วงสองสามสัปดาห์หรือหลายเดือนที่ผ่านมานี้ หัวข้อเรื่องความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
คาร์ทิค ซันดาราม (Kartik Sundaram) นักศึกษาจากประเทศอินเดีย ซึ่งทำงานศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาอาศัยอยู่ที่แอนน์ อาร์เบอร์ ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนประมาณ 100 กิโลเมตร ซันดารามเรียกเหตุกราดยิงในมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “น่าสลดใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม” และว่าเขาไม่สามารถทำอะไรในเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องเปลืองสมองไปคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และถ้าหากมีคนถือปืนมาที่ห้องเรียนของเขาจริง ๆ เขาก็คงต้องตายไป เท่านั้นเอง
ส่วน คูชิ อักนิช (Khushi Agnish) นักศึกษาจากอินเดียอีกผู้หนึ่ง เพิ่งจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยควินิพิแอค ในรัฐคอนเนตทิคัต และปัจจุบันทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล
ดังนั้นเธอจึงมีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยในอเมริกาถึงสองแห่ง เธอกล่าวว่าสภาพแวดล้อมที่ควินิพิแอคแตกต่างจากที่เยลมากแม้ว่าจะอยู่ห่างกันเพียง 15 นาทีก็ตาม
ที่มหาวิทยาลัยเยล ในเมืองนิว เฮเวน ผู้คนสามารถเดินเข้าออกในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีปัญหามากนัก แต่ต้องใช้บัตรนักเรียนเพื่อเข้าตัวอาคาร ในทางกลับกันควินิพิแอค ซึ่งอยู่ที่ชานเมืองแฮมเดน อยู่ติดกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่และแยกตัวออกจากบริเวณบ้านเรือนและย่านธุรกิจ ทุกคนที่ขับรถจะต้องแสดงบัตรประจำตัวของโรงเรียนเพื่อเข้าออกในรั้วมหาวิทยาลัย
อักนิชกล่าวว่าเธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอาชญากรรมและบางครั้งก็รู้สึกว่าที่นิว เฮเวนนั้น ปลอดภัยน้อยกว่าที่อินเดีย บางครั้งก็กังวลว่าเธออาจตกเป็นเป้าหมายที่ถูกยิงเพราะสีผิวของเธอเอง
เธอกล่าวอีกว่า ด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองปืนในประเทศนี้ ทำให้เกิดความหวาดกลัวอยู่เสมอว่า หากใครสักคนกำลังโกรธคุณอยู่ พวกเขาก็สามารถถือปืนมายิงคุณได้เลย
อย่างไรก็ตาม ซันดารามกล่าวว่า เขาเชื่อว่าถึงอย่างไรประโยชน์ของการศึกษาต่อในสหรัฐฯ ก็ยังมีมากกว่าความเสี่ยงอยู่ดี เพราะ “โอกาสที่จะมีรายได้สูง คือปัจจัยที่สำคัญ”
เบ็นสันจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ อีสเทิร์น มีความกังวลว่านักเรียนต่างชาติบางคนอาจไม่ต้องการมาเรียนที่สหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาเรื่องความรุนแรงและค่าเล่าเรียนที่สูง
นอกกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งในแคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรปเหนือก็ถือว่ามีความปลอดภัยกว่าและมักจะมีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าอีกด้วย เขาบอกกับนักเรียนว่าบอสตันเป็นเมืองที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนต่างชาติ และทางมหาวิทยาลัยนอร์ธ อีสเทิร์นเอง ก็พยายามรักษาเขตรั้วมหาวิทยาลัยให้ปลอดภัย
- ที่มา: วีโอเอ