บทความชิ้นล่าสุดของสถาบันวิจัยนโยบาย Institute of Southeast Asian Studies หรือ ISEAS ที่ถูกตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากล่าวถึง “การส่งออกวัฒนธรรม” ของจีนมายังประเทศไทย ผ่านโครงการของ “สถาบันขงจื้อ” (Confucius Institutes) และ “ห้องเรียนขงจื้อ” (Confucius Classrooms)
ผศ. ศิวริน เลิศภูษิต แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ระบุว่าการขยายอิทธิพลของจีนในรูปแบบดังกล่าว เป็นเครื่องมือของการเผยแพร่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์ ' ของจีนในประเทศไทย
วีโอเอภาคภาษาจีนกลางสัมภาษณ์นักวิชาการผู้นี้ซึ่งระบุว่า จีนพยายามสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในประเทศไทยผ่านสถาบันขงจื้อ และบางครั้ง การเรียนการสอนอาจถูกออกแบบมาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจภายในประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อว่าคนเหล่านี้จะได้มีทัศนะคติที่ดีต่อจีน
ทั้งนี้ ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า ในประเทศไทย มีสถาบันขงจื้อ 16 แห่งและห้องเรียนขงจื้อ 21 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนสถาบันขงจื้อที่มีอยู่ราว 1,000 แห่งทั่วโลก โดยองค์กรเหล่านี้รับเงินจากรัฐบาลจีน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป เช่น สวีเดนและฟินแลนด์ ต่างสั่งปิดสถาบันขงจื้อในประเทศของตนโดยให้เหตุผลว่า องค์กรเหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ
วีโอเอภาคภาษาจีนกลางรายงานว่า สถาบันขงจื้อในประเทศไทยเดินหน้าอย่างแข็งขันในการเป็นตัวเชื่อมสำหรับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในจีน ในโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมทักษะอาชีพ
วีโอเอไทยได้ติดต่อไปยังสถาบันขงจื้อแห่งหนึ่งที่ประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับเพื่อแสดงความเห็นเรื่องนี้
ผศ. โทนี ไท-ติง หลิว แห่งศูนย์ Center for General Education มหาวิทยาลัย National Chung Hsing กล่าวว่า ไทยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการสานความสัมพันธ์กับจีน เช่น จำนวนประชากรเชื้อสายจีนที่มีอยู่มากในประเทศไทย
เขาบอกด้วยว่า ไทยค่อนข้างจะปลอดกระแสต่อต้านจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จีนก็น่าจะเห็นว่า ปัจจัยที่ตั้งของไทยที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโดจีน เป็นเรื่องสำคัญ ในมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์
อีกด้านหนึ่ง ผศ. ชอง จา เอียน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์บอกกับวีโอเอภาคภาษาจีนกลางว่า คนไทยจำนวนมากเชื่อว่า จีนช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจ
นักวิชาการผู้นี้กล่าวเสริมว่า “กลุ่มพลังการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยเชื่อว่า ระบบเผด็จการของจีน ค่อนข้างเป็นไปในทางเดียวกันกับความคิดของพวกเขา”
อย่างไรก็ตาม ผศ. ศิวริน ระบุว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีมุมมองเชิงลบต่อจีน แม้ว่าจะไม่รู้สึกขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมแต่สาเหตุหลัก ๆ มาจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง
สถาบัน ISEAS ทำการสำรวจไม่นานนี้ และพบว่า 95.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยกังวลต่ออิทธิพลทางการเมืองและทางยุทธศาตร์ในภูมิภาคของจีนในประเทศไทย และ 86% ตอบว่า กังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยระดับความกังวลในเรื่องแรกถือว่า ไทยอยู่สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนในประเด็นที่สองนั้น ไทยอยู่สูงสุดอันดับสองในอาเซียน
- ที่มา: วีโอเอภาคภาษาจีนกลาง