รัสเซียสั่งระงับการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปผ่านท่อขนส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม 1 (Nord Stream 1) ในวันพุธ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาขาดแคลนพลังงานในหลายประเทศของยุโรป
บริษัท ก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า ท่อนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งเป็นท่อขนส่งก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดที่นำก๊าซจากรัสเซียไปยังลูกค้าอันดับหนึ่ง คือ เยอรมนี จะปิดใช้งานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม จนถึงวันที่ 3 กันยายน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกรุงเบอร์ลิน ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า เยอรมนีสามารถรับมือกับการปิดท่อส่งก๊าซนี้เป็นเวลาสามวันได้ หากรัสเซียเริ่มเปิดทำงานท่อนอร์ดสตรีม 1 บางส่วนอีกครั้งในวันเสาร์ตามแผนที่วางไว้ "แต่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น"
หากการปิดท่อก๊าซดังกล่าวยืดเยื้อออกไป จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับภาคพลังงานของยุโรปที่เผขิญกับปัญหาราคาก๊าซสูงขึ้น 400% ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นับตั้งแต่เริ่มการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียได้ระงับการส่งก๊าซให้แก่บัลแกเรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ไปแล้ว รวมทั้งลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อขนส่งต่าง ๆ ที่ไปจากรัสเซียด้วย
เมื่อเดือนมิถุนายน รัสเซียลดปริมาณการขนส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ลงเหลือ 40% ของปริมาณที่สามารถขนส่งได้ และเหลือ 20% ในเดือนกรกฎาคม โดยอ้างว่าเป็นปัญหาด้านการซ่อมบำรุงและมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกที่ทำให้ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์บางอย่างได้
สำนักข่าว Interfax รายงานอ้างคำกล่าวโฆษกรัฐบาลรัสเซีย ดมิทรี เพสคอฟ ในวันพุธว่า รัสเซียยังคงยึดมั่นตามสัญญาการส่งก๊าซให้ยุโรป แต่ไม่สามารถทำได้ตามข้อตกลงเนื่องจากมาตรการลงโทษ
การลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ยิ่งสร้างปัญหาต่อความพยายามของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่พยายามจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอสำหรับฤดูหนาวที่จะมาถึง ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลกรุงมอสโกอาจสั่งระงับการส่งก๊าซทั้งหมด
เมื่อวันอังคาร ฝรั่งเศสกล่าวหารัฐบาลรัสเซียว่า ใช้การส่งพลังงานเป็น "อาวุธสงคราม" ขณะที่บรรดาประเทศตะวันตกต่างเกรงว่า รัสเซียกำลังพยายามให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้นเพื่อลดความสามารถของชาติตะวันตกในการต้านทานการรุกรานของรัสเซียในยูเครน ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกว่าเป็น "การก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ" แต่ทางรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้