สหรัฐฯ เร่งดำเนินการตามแผนเพื่อกดดันให้รัสเซียขายน้ำมันในราคาที่ต่ำเกินจริงในตลาดโลก เพื่อกีดกันแผนการของรัฐบาลเครมลินในการระดมทุนเพื่อก่อสงครามในยูเครน ด้านนักวิเคราะห์กังขาว่าอาจไม่ได้ผล
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ G-20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซียว่า การตัดผลกำไรจากการขายน้ำมันของรัสเซียจะปิดกั้นรายได้ในการก่อสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และว่าการคุมราคาน้ำมันรัสเซียรัสเซียจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่ง
ขุนคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า “การกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของเราในการแก้ปัญหาความเจ็บปวดของชาวอเมริกันและทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่ที่หน้าหัวจ่ายน้ำมันและที่ร้านขายของชำในขณะนี้”
อย่างไรก็ตาม แผนการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวต้องอาศัยกลไกอันซับซ้อนซึ่งไม่เคยนำมาใช้มาก่อน และผู้เชี่ยวชาญในตลาดพลังงานโลกบางรายมองว่าอาจเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล
คุมราคาพ่วงกับการคว่ำบาตร
แผนการที่รัฐมนตรีเยลเลนเสนอ พ่วงมากับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่ทางสหภาพยุโรป อังกฤษ และสหรัฐฯ เตรียมบังคับใช้กับรัสเซีย
ในการนำน้ำมันดิบรัสเซียเข้าสู่ตลาดพลังงานได้ รัสเซียจะต้องอาศัยธุรกรรมต่าง ๆ จากผู้ให้กู้ยืม บริษัทขนส่ง และบริษัทประกันระหว่างประเทศ ภายใต้แผนการปัจจุบันในการตัดวงจรการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ นี้จะเริ่มต้นได้ช่วงปลายปีนี้ ซึ่งตามหลักการแล้ว จะทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้เลยในระยะเวลาอันใกล้ และทำได้ยากขึ้นในอนาคตด้วย
หากมาตรการดังกล่าวนำมาใช้และประสบความสำเร็จได้ ผลจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลร้ายต่อทุกภาคส่วน รัสเซียจะสูญเสียรายได้จากน้ำมัน และทั่วโลกอาจจะเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก การขาดแคลนน้ำมันเมื่อดึงน้ำมันดิบรัสเซียออกจากตลาดไปทั้งหมดแล้ว
สำหรับมาตรการที่ รมต.เยลเลนเสนอ เป็น “ข้อยกเว้น” จากมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ซึ่งหากรัสเซียตกลงที่จะขายน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ คือ ระดับที่ประเทศต่าง ๆ ระบุไว้ในบทลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย รัสเซียจึงจะสามารถเข้าถึงธุรกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นในการนำน้ำมันดิบกลับสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งถือเป็นการลดรายได้จากน้ำมันของรัสเซียโดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลก
ผู้เชี่ยวชาญยังกังขา
ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดพลังงานโลก ไม่เชื่อว่ามาตรการคุมราคาน้ำมันรัสเซียจะได้ผล
จูเลียน ลี นักกลยุทธ์ด้านน้ำมัน จาก Bloomberg First Word เขียนในบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวอชิงตัน โพสต์ ว่ามาตรการดังกล่าว “มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ผลจริง” และว่า “การคิดคำนวณ (ของปธน.ปูติน) เกือบจะแม่นยำว่าการตัดการส่งออกน้ำมันรัสเซียทั้งหมดจะสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจของผู้ซื้อน้ำมันในยุโรปมากกว่าเศรษฐกิจรัสเซีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สิ้นหวังอย่างยิ่งหากคาดหวังว่าปธน.ปูตินจะยอมจำนนในกรอบราคาที่ชาติตะวันตกกำหนดมาให้”
ด้านเอ็ดเวิร์ด ซี เชา นักวิเคราะห์อาวุโส จาก Center for Strategic and International Studies ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า เขาเชื่อว่าการคุมราคาน้ำมันรัสเซียเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แนวทางอื่น ๆ
เชา ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กล่าวว่า “ผมได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทุกคนที่รู้จัก และไม่มีใครเลยที่คิดว่าวิธีนี้จะได้ผล”
แต่นักวิเคราะห์รายนี้ ได้เสนอแนวทางอื่นๆ ที่เป็นไปได้ รวมทั้งแผนประกันราคาทางเลือก เงื่อนไขสัญญาซื้อขายน้ำมันที่ผลักความเสี่ยงของการจัดส่งน้ำมันไปให้กับฝั่งผู้ขายมากกว่าฝ่ายผู้ซื้อ และการใช้กองเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลมอสโกอาจนำมาใช้ในการหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษและหลีกเลี่ยงการคุมราคาน้ำมันจากนานาชาติ
แรงกดดันเพิ่มเติม
เมื่อวางข้อกังขาไว้ด้านหนึ่ง คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังมีความต้องการที่จะกดดันในเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก
รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ยังไม่มีการกำหนดราคาดังกล่าว แต่ “เราต้องการตัวเลขที่จูงใจรัสเซียให้ผลิตน้ำมันต่อไป – นั่นคือระดับที่ทำให้การผลิตน้ำมันยังทำผลกำไรให้กับรัสเซียได้อยู่”
เยลเลน เพิ่มเติมว่า หากรัสเซียไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว รัสเซียจะต้องเผชิญผลกระทบในระยะสั้นจากรายได้ที่หดหายไปในตลาดพลังงาน และต้นทุนระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการยุติการผลิตน้ำมัน การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดโลกเมื่อผู้ซื้อน้ำมันหันเหไปพึ่งพาแหล่งน้ำมันจากประเทศอื่น
บทบาทของจีนกับอินเดีย
นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนและชาติตะวันตกหลายประเทศลังเลที่จะซื้อน้ำมันจากรัสเซีย จีนและอินเดียเข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว โดยเข้าซื้อน้ำมันมากถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย
คำถามตามต่อคือความต้องการน้ำมันในระดับสูงเช่นนั้นจะยังคงมีอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะกับจีน ที่ทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ และยังไม่มีความชัดเจนว่าทั้งจีนและอินเดียจะทำตามกรอบราคาน้ำมันของรัสเซียหรือไม่
หากมาตรการคุมราคาน้ำมันรัสเซียมีผลบังคับใช้ จะกลายเป็นการคิดคำนวณที่ซับซ้อน หากรัสเซียปฏิเสธทำตามเงื่อนไขของชาติตะวันตก จีนและอินเดียอาจเดินหน้าซื้อน้ำมันจากรัสเซียต่อไป แต่อาจเข้ามาต่อรองในส่วนลดที่มากขึ้นอีก ในเวลาเดียวกันนี้ การดึงน้ำมันรัสเซียออกจากตลาดโลกโดยรวมจะดันราคาน้ำมันโลกให้พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งกับที่จีนและอินเดีย ที่ซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นด้วยเช่นกัน
แต่หากรัสเซียทำตามเงื่อนไขดังกล่าว จีนและอินเดียจะไม่มีแรงจูงใจในการจ่ายราคาน้ำมันที่สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้เลย ซึ่งเยลเลนกล่าวด้วยว่า “ฉันหวังว่าจีนและอินเดียจะเล็งเห็นว่าการกำหนดเพดานราคาน้ำมันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศในการลดราคาน้ำมันที่ต้องซื้อจากรัสเซีย”
- ที่มา: วีโอเอ