ฮ่องกงเผชิญกับปัญหาประชากรลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งผู้สันทัดกรณีมองว่าอาจเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 พ่วงด้วยมาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองในฮ่องกง
มาตรการสกัดกั้นผู้เห็นต่าง ดันชาวฮ่องกงแห่โยกย้ายประเทศ
นับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงเมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลให้ประชากรตัดสินใจย้ายออกจากฮ่องกงกันเพิ่มขึ้น โดยปีนี้มีชาวฮ่องกงย้ายออกไปมากกว่า 113,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 1.6% และเป็นตัวเลขประชากรที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ฮ่องกงเริ่มเก็บข้อมูลสำมะโนประชากรมาในระยะกว่า 60 ปีมานี้
ขณะที่ข้อมูลเมื่อปีก่อนหน้า ประชากรฮ่องกงลดลง 0.3% โดย 89,200 คนย้ายออกจากฮ่องกง ส่วนปีใน 2020 ชาวฮ่องกงย้ายออกไปราว 20,900 คน
ข้อมูลสถิติประชากรล่าสุดของฮ่องกงลดลงจากระดับ 7.41 ล้านคน มาอยู่ที่ 7.29 ล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรและสถิติฮ่องกง
เมื่อต้นปีนี้ นักวิเคราะห์หลายคนได้ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า การลดลงของประชากรฮ่องกงนั้น เป็นผลมาจาความวุ่นวายทางการเมือง และมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดของฮ่องกง ขณะที่โฆษกรัฐบาลฮ่องกงให้เหตุผลของการลดลงของประชากรว่าเป็นเพราะฮ่องกงมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่น้อยลงเท่านั้น
ลูซี จอร์แดน อาจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์จาก University of Hong Kong ที่พำนักอยู่ฮ่องกงมานาน 10 ปี เปิดเผยกับวีโอเอว่า เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การอพยพย้ายออกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และว่าปรากฏการณ์พายุลูกใหญ่ระลอกที่ 5 กำลังจะมาถึงในฤดูหนาวปลายปีนี้ นั่นเป็นเพราะว่า จังหวะการโยกย้ายครั้งใหญ่อย่างกะทันหันของฮ่องกงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนและหลังคลื่นการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ก็เพียงแค่นั่งมองปฏิทินผ่านไปและไปร่วมงานเลี้ยงอำลาเพื่อนฝูงเท่านั้น
มาตรการคุมโควิดสุดเข้ม
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 ทางการสาธารณสุขของฮ่องกงใช้ ‘นโยบายโควิดเป็นศูนย์’ ที่พุ่งเป้าจัดการตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วยมาตรการที่เข้มงวดกับประชาชน อาทิ ห้ามการพบปะรวมกลุ่ม การติดตามตัวคนใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และมาตรการเคอร์ฟิวสุดเข้ม สำหรับประชาชนและผู้ประกอบสัมมาชีพต่าง ๆ มีการบังคับใช้มาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อที่กินเวลานานกว่าจะสามารถกลับเข้าพื้นที่ในเมืองได้
เมื่อสัปดาห์ก่อน จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ปรับลดเวลากักตัวเหลือ 3 วันจาก 7 วัน และจอร์แดนคิดว่าปัจจัยนี้จะมีผลกับการโยกย้ายอย่างยิ่ง ขณะที่ตัวเลขการย้ายออกของชาวฮ่องกง สะท้อนถึงความจริงที่ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับการกลับเข้ามาอยู่ในฮ่องกงเช่นกัน ดังนั้นยังมีปัจจัยอีกมากในการตีความความหมายของตัวเลขสำมะโนประชากรใหม่นี้
หลบหนีวิถีชีวิตที่ถูกจองจำ
สตีเฟน ตง วัย 42 ปี ที่ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่แคนาดาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บอกว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในฮ่องกง ทำให้ต้องตัดสินใจโยกย้าย
ตง เปิดเผยถึงประเด็นการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองของฮ่องกงกับวีโอเอว่า “ผมคิดว่าฮ่องกงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การขาดเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทำให้รู้สึกเหมือนถูกจองจำ และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ยิ่งตอกย้ำความเชื่อนั้นเข้าไปอีก ... ฮ่องกงหันหลังให้กับคนรุ่นใหม่และมองพวกเขาเหมือนกับศัตรู ผมมีลูกเล็ก ๆ สองคน และผมไม่อยากให้พวกเขาต้องเข้าคุกหรือเป็นอันธพาลในสายตาของรัฐบาล”
ตง เสริมว่า “เพื่อนของเราเกือบทุกคนที่มีลูกแห่ย้ายประเทศกันหมด พวกเราเกือบจะเป็นกลุ่มก้อนสุดท้ายแล้ว พวกเราไม่ได้วางแผนจะกลับมาฮ่องกงในเร็ววันนี้นับตั้งแต่การวิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องขัดต่อกฏหมายและเราไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่เราไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิดได้”
หลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2019 ทางการฮ่องกงจับกุมผู้ประท้วงหลายพันคน และเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง สื่ออิสระ และองค์กรด้านสังคมต่าง ๆ ขณะที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ห้ามการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ พร้อมโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง
อนาคตของลูกหลาน
เจสสิกา หว่อง วัย 26 ปี ย้ายจากฮ่องกงมาอยู่ที่นครโตรอนโต แคนาดาเช่นกัน เธอให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “เหตุผลหลักของการย้ายประเทศมาจากพิจารณาถึงคนรุ่นหลัง ฉันยังไม่แต่งงานและอยากจะวางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่นี้”
ในแง่ของการศึกษา หว่องชี้ว่า การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในฮ่องกงเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลปะทะกับตำรวจปราบจลาจลในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 แห่งในฮ่องกง ช่วงปี 2019 ทำให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างมากตามสถานศึกษาในฮ่องกง “มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนระบบสังคมขนาดย่อม การปิดกั้นผู้คนออกไปดูเหมือนการปกป้องนักศึกษาก็จริง แต่ในเวลาเดียวกัน นักศึกษาจะสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และแยกแยะความผิดชอบชั่วดีไปด้วย”
ฟิโอนา ชาน วัย 26 ปี นักการตลาดชาวฮ่องกงที่ย้ายมาอยู่อังกฤษ บอกกับวีโอเอว่า ระบบการศึกษาเป็นเหตุผลหลักที่ย้ายออกจากฮ่องกง “ฉันคิดถึงอนาคตของครอบครัว หากยังอยู่ที่ฮ่องกง ฉันคงไม่สามารถมีลูกได้เพราะฉันไม่เห็นด้วยกับระบบการศึกษาแบบยัดเยียดในฮ่องกง ฉันชอบการศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจแบบในอังกฤษ และมองหาการศึกษาที่ดีให้กับลูก ๆ ในอนาคต”
สำนักงานด้านการศึกษาฮ่องกง ออกแนวทางใหม่เมื่อปีที่แล้ว ระบุถึงมาตรการที่จะตักเตือนนักเรียนนักศึกษาที่มีแนวคิด “โค่นล้มอำนาจ” และ “มีการแทรกแซงจากต่างชาติ” ซึ่งสอดรับกับกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ อีกทั้งยังมีการเปิดสอนวิชาบังคับเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงฉบับดังกล่าวในมหาวิทยาลัยในเดือนพฤศจิกายนปีก่อนด้วย
ฝั่งบุคลากรด้านการศึกษาตัดสินใจออกจากงานที่ฮ่องกงมากขึ้นเช่นกัน โดยข้อมูลสถิติใหม่ พบว่า นักการศึกษามากกว่า 5,000 คนลาออกจากระบบการศึกษาฮ่องกงในช่วงปี 2020-2021 อ้างอิงจากสื่อ South China Morning Post
การเปิดทางสู่การเป็นพลเมืองอังกฤษให้กับชาวฮ่องกงหลายล้านคน เปิดประตูให้กับผู้คนที่นี่ให้ย้ายออกด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่มีฐานะหรือถือหนังสือเดินทางพลเมืองอังกฤษโพ้นทะเลจะสามารถขอเข้าไปพักอาศัยและทำงานในอังกฤษได้ถึงห้าปีและสามารถขอสัญชาติอังกฤษได้หลังจากนั้นด้วย ซึ่งมีชาวฮ่องกงราว 5.4 ล้านคนมีคุณสมบัติเข้าข่าย
หลังมาตรการดังกล่าวออกมา รัฐบาลอังกฤษพบว่ามีชาวฮ่องกงที่มีคุณสมบัติราว 123,400 คนที่ยื่นขอพำนักอาศัยและทำงานในอังกฤษแล้ว
- ที่มา: วีโอเอ