ถึงแม้กลุ่มตาลิบันจะได้ชัยชนะทางการทหารและสามารถเข้าควบคุมประเทศภายในเวลาอันสั้นก็ตาม แต่ปัญหาท้าทายอย่างแท้จริงที่รออยู่ยังมีอีกหลายด้านด้วยกัน
นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารและปกครองประเทศ ปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนถึงโอกาสที่จะมีปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในกลุ่มผู้นำ
เมื่อราว 25 ปีที่แล้วสมัยที่กลุ่มตาลิบันมีอำนาจปกครองประเทศก่อนที่สหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าไปในปี 2001 นั้น อัฟกานิสถานยังเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจนซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยึดมั่นในจารีตประเพณี ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่กลุ่มตาลิบันจะปกครองประเทศอย่างเข้มงวด เช่น บังคับให้ผู้ชายต้องไว้เคราและผู้หญิงต้องสวมชุด burqa ที่คลุมตั้งแต่ศรีษะถึงเท้าและเปิดไว้เฉพาะที่ตาเท่านั้น รวมทั้งห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียนและห้ามกิจกรรมบันเทิง เช่น การฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์เป็นต้น
แต่ขณะนี้โฉมหน้าของอัฟกานิสถานได้เปลี่ยนไปโดยมีชนชั้นกลางผู้ได้รับการศึกษามากขึ้นและสตรีก็มีโอกาสทำงานนอกบ้านเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม อัฟกานิสถานยังเป็นประเทศที่ยากจนอยู่เพราะถูกรุมเร้าทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจและคอรัปชั่น โดยอัตราว่างงานในประเทศขณะนี้อยู่ที่กว่า 30% และกว่าครึ่งของประชากรชาวอัฟกานิสถานก็มีชีวิตอยู่ใต้ระดับมาตรฐานความยากจนด้วย
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาท้าทายหลายด้านที่อัฟกานิสถานกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกลุ่มตาลิบันที่จะปกครองประเทศในลักษณะเดิมแม้จะได้รับชัยชนะทางทหารสามารถควบคุมพื้นที่สำคัญของประเทศได้แล้วก็ตาม
การบริหารและการปกครองประเทศ
คุณทอเรค ฟาฮาดิ อดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อน ได้ชี้ว่า ความท้าทายสำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มตาลิบัน คือการยอมรับการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ และว่ารัฐบาลชุดใหม่ของอัฟกานิสถานจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชากรทุกคน ซึ่งรวมทั้งกลุ่มสตรี รู้สึกว่าตนเองมีส่วนและมีตัวแทนอยู่ในรัฐบาล
โดยเครื่องทดสอบที่แท้จริงคือการยอมแบ่งปันอำนาจเพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ หรือบุคคลที่ไม่ใช่คนของตาลิบันเข้าร่วมบริหารประเทศด้วย เพราะเรื่องนี้จะมีผลช่วยชะลอการอพยพแบบสมองไหลของกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาออกจากประเทศได้
ปัญหาเศรษฐกิจ
เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลอัฟกานิสถานต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 80% และขณะนี้เมื่อความช่วยเหลือจากต่างชาติหยุดชะงักลงหรือถูกยกเลิกไป ปัญหาว่างงานและปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำก็เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รออยู่อย่างที่คุณ
ไมเคิล คูเกิลแมน นักวิเคราะห์ ของหน่วยงานคลังสมอง Wilson Center ของสหรัฐฯ เตือนว่า อาจจะทำให้เกิดการประท้วงขนานใหญ่หากปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ปัญหาด้านความมั่นคง
นอกจากเรื่องการแบ่งปันอำนาจเพื่อให้มีรัฐบาลที่รวมทุกภาคส่วน กับการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้ว กลุ่มตาลิบันก็มีปัญหาด้านความมั่นคงที่ต้องขบแก้เช่นกัน
เพราะเท่าที่ผ่านมานักรบของตาลิบันบางกลุ่มที่รู้สึกว่าผู้นำตาลิบันชุดปัจจุบันย่อหย่อนในเรื่องอุดมการณ์ ได้ตีจากและหันไปร่วมงานกับกลุ่มรัฐอิสลามหรือกลุ่ม IS แทน ซึ่งก็ทำให้กลุ่มรัฐอิสลามกลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงในประเทศที่สำคัญของตาลิบันในขณะนี้ด้วย
ปัญหาภายในกลุ่มตาลิบันเอง
ท่าทีที่ผ่อนปรนของผู้นำบางคนในทางโลกวิสัยมากขึ้น รวมทั้งโอกาสที่ทางกลุ่มอาจจะยอมยืดหยุ่นเพื่อร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศและเพื่อรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ก็อาจทำให้เกิดความแตกแยกและความขัดแย้งภายในได้
โดยตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้จะเห็นได้จากกรณีของมูลลาห์ อับดุล กานิ บาราดาห์ ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มซึ่งเมื่อ 25 ปีที่แล้วมักเก็บตัวอยู่เฉพาะในจังหวัดกันดาฮาร์ทางใต้ของประเทศ แต่มาในช่วงหลายปีหลังนี้เขาได้เปลี่ยนบทบาทและท่าทีกลายเป็นผู้นำด้านการเจรจากับต่างประเทศ โดยใช้ชีวิตอยู่ที่กาตาร์ซึ่งกลุ่มตาลิบันมีสำนักงานผู้แทนทางการเมืองอยู่ และมักปรากฏตัวในภาพถ่ายเคียงข้างผู้นำระดับสูงของหลายประเทศ เช่น รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น
ประเด็นปัญหาทั้งในด้านการบริหารการปกครอง เศรษฐกิจ ความมั่นคงและเอกภาพภายในของผู้นำตามสายตาการมองของนักวิเคราะห์เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องท้าทายที่รอการขบแก้ของกลุ่มตาลิบันอยู่ แต่ปัญหาซึ่งมีความเร่งด่วนอื่น ๆ ก็ยังมีอีกหลายด้านด้วยกัน
ความยากจนและอดอยากหิวโหย
นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือนแล้ว และค่าเงินอัฟกานิสซึ่งกำลังตกต่ำลงอย่างมาก รวมทั้งจากคำเตือนขององค์การสหประชาชาติที่ว่าขณะนี้อัฟกานิสถานกำลังประสบปัญหาวิกฤติด้านอาหาร โดยราวหนึ่งในสามของประชากรคือชาวอัฟกานิสถานประมาณ 13 ล้านคนกำลังมีปัญหาฉุกเฉินเกี่ยวกับอาหาร
ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติระบุว่า อาหารสำรองที่มีอยู่ในประเทศกำลังจะหมดไปภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
(ที่มา: AP)