ภารกิจทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ
เครื่องบินลำสุดท้ายของกองทัพสหรัฐฯ เดินทางออกจากสนามบินกรุงคาบูลเมื่อเวลา 11.59 น. ของคืนวันจันทร์ตามเวลาในกรุงคาบูล หนึ่งนาทีก่อนกำหนดเส้นตายที่เวลาเที่ยงคืนตรงของวันที่ 31 สิงหาคม จากการยืนยันของพลเอกแฟรงค์ แมคเคนซี ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นเอเชียกลางและตะวันออกกลาง (U.S. Central Command)
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มตาลิบัน กล่าวกับวีโอเอว่า กองกำลังต่างชาติได้ถอนกำลังทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานไปแล้วไม่นาน
ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำเนียบขาวยืนยันว่า ปฏิบัติการอพยพประชาชนออกจากสนามบินฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล จะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงกำหนดเส้นตาย แม้เพิ่งเกิดการโจมตีด้วยจรวดหลายลูกเมื่อชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา
พลตรีวิลเลียม เทย์เลอร์ แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "สหรัฐฯ มีศักยภาพพอที่จะดำเนินอพยพประชาชนออกจากกรุงคาบูลต่อไปจนกว่าจะถึงเส้นตายวันที่ 31 สิงหาคม"
ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี กล่าวว่า "ภารกิจที่สนามบินกรุงคาบูลจะเดินหน้าต่อไปจนถึงเที่ยวบินสุดท้าย"
พลตรีเทย์เลอร์ ระบุว่า มีจรวดที่ยิงเข้าไปในบริเวณสนามบินกรุงคาบูลทั้งหมด 5 ลูก โดย 3 ลูกพลาดเป้าหมายบริเวณสนามบินทั้งหมด ส่วนลูกที่ 4 ตกไม่ไกลแต่ไม่กระทบต่อภารกิจอพยพประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ขณะที่ลูกที่ 5 ถูกยิงสกัดไว้ด้วยระบบป้องกันขีปนาวุธ
ทางด้านองค์กรข่าวกรอง SITE เปิดเผยว่า กลุ่มรัฐอิสลามโคราซาน (ISIS-K) กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ยิงจรวดเหล่านั้น แต่ยังไม่มีการยืนยันคำกล่าวอ้างนี้
ทำเนียบขาวแถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมจนถึงวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม ได้มีการอพยพประชาชนอเมริกันและชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้กับสหรัฐฯ ออกจากกรุงคาบูลแล้ว 116,700 คน และตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมมีการอพยพประชาชนแล้วราว 122,000 คน
ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ฟิลิปโป แกรนดี กล่าวในวันจันทร์ว่า ชาวอัฟกันทั้งที่ยังอยู่ในประเทศและอพยพออกไปนอกประเทศ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลก องค์กรมนุษยธรรม และประชาชนทั่วไป เพื่อจัดส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่พวกเขา ทั้งเพื่อให้พวกเขามีความมั่นคงปลอดภัยและสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็ตาม
(ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์)