นักวิทยาศาสตร์สร้าง 'แผนที่ปะการังโลก' ฉบับแรก

In this December 2019 photo provided by the Allen Coral Atlas, Alexandra Ordonez Alvarez, from University of Queensland, collects georeferenced data on the Great Barrier Reef's Ashmore Bank in Australia. (Chris Roelfsema/Allen Coral Atlas via AP)

Your browser doesn’t support HTML5

Coral Atlas

นักวิจัยได้สร้างแผนที่ที่สมบูรณ์ของแนวปะการังของโลกขึ้นเป็นฉบับแรก มีชื่อเรียกว่า Allen Coral Atlas โดยตั้งชื่อตาม Paul Allen ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ผู้ล่วงลับไปแล้ว​

การพัฒนาแผนที่ดังกล่าวนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Arizona State University ด้วยการร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์แนวปะการัง มหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และกลุ่มเอกชนต่าง ๆ ทั่วโลก

แผนที่ออนไลน์ได้รับการออกแบบให้ใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ปะการังที่สามารถรองรับการวางแผนมหาสมุทรและกิจกรรมวิทยาศาสตร์ปะการังได้

Vulcan Inc. บริษัทเอกชนของ Allen เริ่มให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการนี้เมื่อปี 2017 แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของนักวิจัย Ruth Gates แห่งฮาวาย ในการสร้าง “super Coral” เพื่อช่วยรักษาแนวปะการัง

ในการประกาศเปิดตัวแผนที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ บรรดาผู้ออกแบบกล่าวว่า แผนที่นี้เป็นแผนที่ปะการังทั่วโลกแบบละเอียดฉบับแรก ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับแนวปะการังในท้องถิ่น รวมถึงโครงสร้างใต้ทะเลประเภทต่าง ๆ เช่น ทราย หิน หญ้าทะเล และปะการัง

แผนที่ประกอบไปด้วยบริเวณต่าง ๆ ที่ลึกไม่เกิน 15 เมตร จัดทำขึ้นมาเพื่อแจ้งข้อมูลแก่บรรดาผู้กำหนดนโยบายที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่มหาสมุทรที่ได้รับการคุ้มครอง แผนการสำหรับโครงสร้างและผนังทะเล ตลอดจนโครงการฟื้นฟูปะการัง

Greg Asner ผู้อำนวยการศูนย์การค้นพบและการอนุรักษ์ระดับโลกของมหาวิทยาลัย Arizona State University บอกกับ The Associated Press ว่า เป็นครั้งแรกที่โครงการนี้ได้สร้างระบบการทำแผนที่ที่เป็นหนึ่งเดียวของแนวปะการังทั้งหมด โดยนักวิจัยต้องพึ่งพาเครือข่ายอาสาสมัครภาคสนามหลายร้อยคนที่ให้ข้อมูลในท้องถิ่นเกี่ยวกับแนวปะการัง ทำให้ทีมสามารถตั้งโปรแกรมดาวเทียมและซอฟต์แวร์เพื่อศึกษาพื้นที่ที่ถูกต้องได้

นอกจากนี้ แผนที่ดังกล่าวยังมีเครื่องมือระบุปะการังฟอกขาว เพื่อระบุชี้แนวปะการังที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาอื่น ๆ

Asner กล่าวว่า แนวปะการังประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของโลกไม่เคยได้รับการทำแผนที่อย่างสมบูรณ์ และยังมีแนวปะการังอีกหลายแห่งที่ยังไม่เคยถูกทำแผนที่มาก่อนอีกด้วย

มหาวิทยาลัย University of Queensland ในประเทศออสเตรเลีย ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลในพื้นที่เพื่อช่วยสร้างแผนที่ และทุกคนสามารถดูแผนที่ออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้ง Allen และนักวิจัย Ruth Gates เสียชีวิตลงในปี 2018 โดยมี Asner และนักวิจัยคนอื่น ๆ ทำงานนี้กันต่อไป Asner กล่าวว่า มีนักวิจัยหลายคนที่คาดหวังว่าจะได้ใช้แผนที่นี้เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่า การวางแผนและงานฟื้นฟูแนวปะการังของพวกเขาจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

(ที่มา: The Associated Press)