บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติอินดิเพนเดนซ์ฮอลล์ สถานที่ประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ใจกลางนครฟิลาเดลเฟีย เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังถูกใช้เป็นสถานที่การเป็นเจ้าภาพจัดการโต้อภิปราย หรือ ดีเบต ชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากเดโมแครต และ อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรคริพับลิกัน ที่ยกระดับความเข้มข้นและความคึกคักผ่านกิจกรรมทางการเมืองที่สัมผัสได้ในเกือบทุกแห่งใจกลางเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
“การที่เขามาดีเบตในเพนซิลเวเนีย โดยเฉพาะในฟิลาเดลเฟีย ก็ทำให้คนในรัฐตื่นเต้นเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะรอบๆฟิลาเดลเฟีย ก็มีเพื่อนๆหลายคนให้ความสนใจ รู้สึกตื่นเต้นที่เขามาจัดดีเบตที่ในเมืองค่ะ”
มาญาแคลร์ อาภรณ์สุวรรณ ชาวไทยในนครฟิลาเดลเฟีย บอกกับ วีโอเอ ไทย ถึงบรรยากาศความคึกคักที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงการจัดดีเบต ของอดีตนครหลวงแห่งแรกของสหรัฐฯ ครั้งนี้ รวมไปถึงความเข้มข้นของอุณหภูมิทางการเมืองในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ถือเป็นรัฐสมรภูมิในการชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ
“ถ้าใครที่ค่อนข้างมั่นใจว่าจะโหวตให้ ทรัมป์ หรือ คามาลา แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่สนใจว่าการพูดคุยเป็นยังไง ไม่ต้องสนใจว่า การตอบคำถามเป็นยังไง ไม่ว่าผลดีเบตจะออกมายังไงก็คงไม่มีผลอยู่แล้ว เพราะว่าเขาคงเลือกของเขาอยู่แล้ว เขาก็คิดว่ามีแฟนเบสของเขาอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวก็รู้สึกว่า มีคนที่ไม่ค่อยแน่ใจอยู่หลายคน ยิ่งช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คิดว่าหลายๆคน ด้วยความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่มาเรื่อยๆ คิดว่าหลายๆคนก็คง งงๆ หรือไม่ค่อยมั่นใจว่าอยากเลือกฝั่งไหน ก็คิดว่าการดีเบตก็ยังมีผลต่อการไปโหวตของคนอยู่ หรือว่ามีผลต่อความมั่นใจของคนอยู่ค่ะ”
ความตื่นตัวของชาวเมืองฟิลาเดลเฟีย สัมผัสได้ชัดเจนในค่ำคืนของการจัดดีเบต (10 กันยายน) เมื่อ องค์กรเอกชน ร้านอาหาร รวมทั้ง สถานบันการศึกษาหลายแห่ง ต่างจัดกิจกรรมการรับชมดีเบต (Debate Watch Party) ที่เปิดให้ผู้สนใจร่วมสังเกตการณ์ และสัมผัสกิจกรรมทางการเมืองอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยเทมเปิลยูนิเวอร์ซิตี้ (Temple University)ใจกลางนครฟิลาเดลเฟีย ที่ เปิดให้นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัย ร่วมติดตามการดีเบต ผ่านจอถ่ายทอดสดภายใน Tomlinson Theater เพื่อเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ทางการเมือง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ ระหว่างกัน
เดวิด บราวน์ (David Brown) ผู้ช่วยคณบดี จาก Klein College of Media and Communication Temple University บอกว่า การจัดกิจกรรมลักษณะนี้ มีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้บทบาท ในกระบวนการการทางประชาธิปไตย ที่ให้นักศึกษาได้เข้าถึง และสัมผัสถึงพลังทางการเมือง และร่วมสร้างผลกระทบต่างๆได้หากทุกคนเข้าถึงและมีส่วนอย่างแท้จริง
ลาลาจ จอห์นสัน Lalaj Johnson นักศึกษาวารศาสตร์ศาสตร์ Temple University บอกกับ วีโอเอ ไทย ว่า ความแตกต่างในการเข้าร่วมกิจกรรม วอชท์ ปาร์ตี้ คือการได้สัมผัสปฏิกิริยาของผู้คนระหว่างการดีเบต ทั้งเนื้อหาด้านนโยบายต่างๆ และลักษณะท่าทาง และการใช้คำพูดของแคนดิเดต ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยน และพูดคุยวิเคราะห์เชิงการเมืองระหว่างกันได้ต่อเนื่อง
เจลั่ม ฮัตตัน Jailam Hutton นักศึกษาวารศาสตร์ศาสตร์ Temple University บอกว่า เขาจับตาเป็นพิเศษในนโยบายความรุนแรงในกาซ่า จากรองประธานาธิบดีคามาลา แฮริส โดยหวังว่า เธอทำได้มากกว่านี้ในการช่วยเหลือชาวปาเลสต์ไตน์ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนักจากการดีเบต แต่ในภาพรวม เจเลียมคิดว่า แฮริส ทำได้ดีกว่าทรัมป์ในการดีเบตครั้งนี้
อันฟีซา บลูมินา Anfisa Blyumina นักศึกษา บอกว่า อาจจะไม่น่าแปลกใจนักที่การจัดการชมดีเบต หรือ วอชท์ ปาร์ตีในรั้วมหาวิทยาลัย อาจจะได้ยินเสียงผู้สนับสนุนคามาลา แฮริส มากกว่า แต่หากออกนอกฟิลลาเดลเฟียไป หรือในสถานที่จัดชมดีเบตอื่น ที่มีผู้สนับสนุนทรัมป์ ผู้คนก็อาจจะมีปฏิกิริยาการรับชมที่แตกต่างออกไป
ด้าน ลอรานส์ ทรินห์ Laurans Trinh นักศึกษาวัย 18 ปี ที่กำลังจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก บอกว่า เขาตื่นเต้นที่จะได้ไปเลือกตั้งครั้งแรก เขาบอกด้วยว่า สิทธิในการลงคะแนนเสียงของตัวมีความสำคัญมาก และถือว่าเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา และต้องการเสียงของเขามีความหมายกับการเลือกตั้งครั้งนี้
เช่นเดียวกับ เรย์ เอปสไตน์ (Ray Epstein) นักศึกษา ที่บอกว่า ในมุมมองของเธอแล้ว การดีเบตในครั้งนี้ คามาลา แฮร์ริส ทำได้ดีกว่า เข้าถึง และรู้สึกร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า
ในภาพรวมของการชมการดีเบตที่เทมเปิ้ลยูนิเวอร์ซิตี้ มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ร่วมติดตาม พบว่า เสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักศึกษา มองว่า คามาลา แฮร์ริส ทำได้ดีกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ในการโต้อภิปรายครั้งนี้ ทั้งจากการเนื้อหาการตอบคำถาม และนโยบายที่เข้าถึงเชื่อมโยง กับคนรุ่นใหม่ได้มากกว่า
Your browser doesn’t support HTML5
ข้อมูลจาก Tufts University Tisch College - CIRCLE ระบุว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 นี้ จะมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first time voters ที่เพิ่งมีอายุครบ 18 ปี ประมาณ 8 ล้านคน ขณะเดียวกัน ทำให้จำนวนกลุ่มประชากรในรุ่น Gen Z หรือ กลุ่มคนหนุ่มสาว อายุไม่เกิน 27 ปี ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวนประมาณ 41 ล้านคน โดยพบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวที่จะออกมาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ นักวิเคราะห์เชือว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ อาจจะสร้างความแตกต่างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไและมีส่วนชี้ชะตาการเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายนนี้