ผู้นำรัฐบาลกรุงโซลเปิดเผยว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงการหารือเกี่ยวกับแผนงานที่จะทำให้กองทัพเกาหลีใต้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในกองกำลังด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดียูน ซุก-ยอล ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ โชซุน อิลโบ ของเกาหลีใต้ที่ตีพิมพ์ออกมาในวันจันทร์และมีเนื้อหาที่ระบุว่า ผู้นำกรุงโซลเปิดเผยเกี่ยวกับการหารือร่วมกับสหรัฐฯ กรณีแผนการร่วมซ้อมรบกับกองกำลังนิวเคลียร์ของกรุงวอชิงตันอยู่ โดยเป็นการวางแผนงานที่ผู้นำเกาหลีใต้ระบุว่า จะนำไปสู่ปฏิบัติการคล้าย ๆ กับ “การแบ่งปันนิวเคลียร์”
ปธน.ยูน ให้สัมภาษณ์ว่า “อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นของสหรัฐฯ แต่เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ควรร่วมกันแบ่งปันข้อมูล แผนงาน และการอบรมร่วมกัน สหรัฐฯ นั้นแสดงความรู้สึกสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างมากด้วย”
วีโอเอ สอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ยังไม่ได้การยืนยันว่า มีการหารือดังกล่วจริงหรือไม่ ขณะที่ ตัวแทนกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ แจ้งให้ผู้สื่อข่าวไปสอบถามประเด็นนี้จากเพนตากอน ซึ่งก็ยังไม่ได้ตอบกลับมาขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้
SEE ALSO: สหรัฐฯ ส่งบี-52 บินเหนือคาบสมุทรเกาหลี ตอบโต้โสมแดงยิงขีปนาวุธ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ไม่ได้ส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปประจำการที่เกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ์ที่ 1990 หลังทำการถอน “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” ออกมาจากคาบสมุทรเกาหลี ตามแผนงานปลดอาวุธที่ตกลงไว้กับสหภาพโซเวียต โดยนับตั้งแต่นั้นมา เกาหลีได้รับการคุ้มครองจากสหรัฐฯ ผ่านแผนงาน “ร่มนิวเคลียร์” ซึ่งกรุงวอชิงตันสัญญาว่าจะใช้สรรพกำลังทุกอย่างที่มี ซึ่งรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อช่วยปกป้องพันธมิตรนี้
แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด ปธน.ยูน ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวล้าสมัยไปแล้ว และว่า “สิ่งที่เราเรียกว่าเป็น ‘การป้องปรามที่ขยายวงออกไป’ หมายความว่า สหรัฐฯ จะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ ดังนั้น เกาหลีใต้ไม่ควรต้องกังวลกับสิ่งใด” และว่า “แต่ในเวลานี้ ถือเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในแนวคิดนี้แล้ว”
ท่าทีจากเกาหลีเหนือที่ไม่เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคนเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาระบบป้องปราบนิวเคลียร์ของตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ผลการวิจัยโดยองค์กร Hankook Research ที่มีการเผยแพร่ออกมาในวันจันทร์แสดงให้เห็นว่า ชาวเกาหลีใต้ 67% สนับสนุนให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น ปธน.ยูน ซึ่งเป็นฝ่ายหัวอนุรักษ์นิยมกล่าวว่า ตนจะขอให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ด้วยการส่งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีมาประจำในภูมิภาค หรือไม่ก็ทำข้อตกลงแบบนาโต้กับเกาหลีใต้ เพื่อให้ทหารเกาหลีใต้ได้รับการอบรมการใช้อาวุธนิวเคลียร์หาเกิดภาวะความขัดแย้งใด ๆ ขึ้น แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาปฏิเสธข้อเสนอทั้งสองข้อไปแล้ว
นักวิเคราะห์จำนวนมากรู้สึกว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะเห็นด้วยกับการสนับสนุนด้านอาวุธนิวเคลียร์ให้เกาหลีใต้ เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะขัดแย้งกับเป้าหมายการลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทั่วโลกของรัฐบาลกรุงวอชิงตัน รวมทั้ง แผนงานปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีด้วย
อย่างไรก็ดี เคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานนโยบายทำเนียบขาวด้านกิจการเอเชีย ออกมายอมรับเมื่อเดือนที่แล้ว แผนงาน ‘ร่มนิวเคลียร์’ นั้น “กำลังเผชิญความท้าทาย” จากหลายปัจจัย ทั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และการอัพเกรดด้านนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ของจีน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายเตือนว่า การที่เกาหลีใต้ติดอาวุธนิวเคลียร์อาจนำมาซึ่งความหายนะได้ และอาจนำสู่การถูกลงโทษจากนานาชาติ แรงกดดันจากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้น และการนำมาซึ่ง “ผลกระทบแบบโดมิโนด้านนิวเคลียร์” ที่อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตอนเหนือจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองต่อไป
- ที่มา: วีโอเอ