เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่ทันสมัยที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ เข้าประจำการบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหรือเมื่อวันอังคาร เพื่อเข้าร่วมในภารกิจฝึกฝนทหารชาติพันธมิตร และลาดตระเวณน่านน้ำดังกล่าวท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยุโรป
เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford) เข้าประจำการในฐานะเรือจ่าฝูงของกลุ่มเรือจู่โจมที่ประกอบด้วยเรือรบ 6 ลำขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) เรือของกองทัพสหรัฐฯ อีกหลายลำ และเรือดำน้ำหนึ่งลำ
นาวาเอก พอล แลนซิลอตตา เจ้าหน้าที่บัญชาการประจำเรือยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "มหาสมุทรแอตแลนติกทั้งหมดจะเป็นสนามเด็กเล่นของเรา" และว่า "เราจะปฏิบัติภารกิจทุกอย่างที่อยู่ในขอบเขตทางทะเลและน่านฟ้าของมหาสมุทรแอตแลนติก"
กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า "เรือขนาดใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดของอเมริกา" มีเทคโนโลยีสมัยใหม่กว่า 20 ประเภท และมีการออกแบบลานจอดเครื่องบินแบบใหม่ที่ทำให้สามารถเพิ่มเที่ยวบินของเครื่องบินไอพ่นได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่น
หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดของเรือยักษ์พลังงานนิวเคลียร์ลำนี้ คือระบบเรดาร์แบบใหม่ที่สามารถตรวจจับภัยคุกคามต่าง ๆ ได้ และใช้ระบบปล่อยเครื่องบินพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ EMALS (Electromagnetic Aircraft Launch System) ในการส่งเครื่องบินออกจากลานจอดบนเรือ แทนระบบพลังไอน้ำเหมือนเรือรุ่นเก่าซึ่งต้องใช้พื้นที่บนเรือในการติดตั้งระบบท่อแรงดันไอน้ำและถังเก็บน้ำจืดในการสร้างไอน้ำ
ปัจจุบัน เรือยูเอสเอส ฟอร์ด คือเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยระวาง 112,000 ตัน มากกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-class carrier) ราว 12,000 ตัน และมากกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ล่าสุดของจีน ฝูเจี้ยน (Fujian) ราว 32,000 ตัน
นอกจากนี้ จากการออกแบบใหม่และการติดตั้งระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ทำให้เรือลำนี้ใช้ลูกเรือได้น้อยลงประมาณ 600 คน เมื่อเทียบกับเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านกำลังพลลงได้หลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 50 ปีที่เรือลำนี้ประจำการ
สำหรับกองเรือจู่โจมของเรือยูเอสเอส ฟอร์ด ประกอบด้วยเรือรบจากสหรัฐฯ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสเปน ถือกลุ่มเรือพันธมิตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง อ้างอิงจากกองทัพเรือสหรัฐฯ
นาวาเอก พอล แลนซิลอตตา กล่าวว่า การประจำการในแอตแลนติกเหนือครั้งนี้จะถือเป็น "รากฐานสำคัญ" เพื่อเตรียมการสำหรับการประจำการทั่วโลกในระยะยาวที่จะเริ่มในปีหน้า ตลอดจนการซ้อมรบเพื่อการป้องกันตนเองในแอตแลนติกเหนือ การจู่โจมทางทะเลพิสัยไกล การกระจายปฏิบัติการในน่านน้ำ การซ้อมรบเพื่อต่อต้านการโจมตีจากเรือดำน้ำ และบูรณาการทางทะเล
พลเรือโท แดน ดไวเยอร์ ผู้บัญชาการกองเรือที่สองของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งดูแลกิจการในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและอาร์กติก กล่าวว่า "ในการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์บนพื้นที่นี้ เราไม่สามารถทึกทักได้อีกต่อไปว่าสภาพทางภูมิศาสตร์จะช่วยป้องกันเราจากการเผชิญหน้าได้เหมือนในอดีต"
การประจำการของเรือลำใหญ่ที่สุดของกองทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากรัสเซียบุกรุกยูเครนเมื่อ 7 เดือนก่อน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งระดมกำลังพลสำรอง 300,000 คนเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อตอบโต้การสูญเสียดินแดนที่ยึดครองมาได้ให้แก่ยูเครน
อย่างไรก็ตาม บรูซ โจนส์ ศาสตราจารย์ที่ปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้อำนวยการโครงการระเบียบโลกและยุทธศาสตร์ ของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution's Project on International Order and Strategy) กล่าวว่า แม้รัสเซียได้หันไปมุ่งเน้นการเสริมกำลังทางบก แต่กองเรือของรัสเซียยังคงแข็งแกร่งและไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามครั้งนี้
นักวิชาการผู้นี้กล่าวกับวีโอเอว่า "ช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน เราเห็นการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางทะเลของรัสเซียในแถบอาร์กติก ดังนั้นบริเวณแอตแลนติกเหนือจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต้องป้องกันการคุกคามจากรัสเซีย"
บรูซ โจนส์ ชี้ว่า การก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมในทะเลดำ คือตัวอย่างของความก้าวร้าวที่กองทัพเรือรัสเซียอาจนำมาใช้อีกในอนาคต "เพราะรัสเซียอาจต้องการยกระดับความขัดแย้งให้ไปไกลกว่ายูเครนในขณะที่สถานการณ์การสู้รบในยูเครนไม่เป็นใจต่อประธานาธิบดีปูติน"
เรือบรรทุกเครื่องบินถูกสร้างมาให้เป็นเหมือนฐานทัพอากาศกลางทะเลที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และใช้เป็นฐานการป้องกันทางอากาศให้แก่เรือรบที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในน่านน้ำต่าง ๆ ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นฐานโจมตีทางอากาศใส่ผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลามในตะวันออกกลาง เป็นต้น
เมลานี ซิสซัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศแห่งสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า เรือบรรทุกเครื่องบินถือเป็น "กระดูกสันหลังของอเมริกา" ในการวางแผนขยายอำนาจทางทหาร ทั้งในด้านของการเคลื่อนกำลังรบและยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพันธะผูกพันทางทหารของสหรัฐฯ ต่อชาติพันธมิตรทั่วโลก
ทั้งนี้ เรือยูเอสเอส ฟอร์ด ลำใหม่นี้ ถือเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นใหม่ลำแรกในรอบ 45 ปีที่ออกประจำการ ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นรองลงมา คือ ยูเอสเอส นิมิตซ์ กำลังจะปลดประจำการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- ที่มา: วีโอเอ