ผู้นำประเทศสมาชิกจาก 21 ชาติของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) มีกำหนดเดินทางมาประชุมสุดยอดในสัปดาห์หน้าที่นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ
การประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เป็นครั้งเเรกในรอบ 12 ปีที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ และทุกสายตาจับจ้องไปที่การพบกันที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ท่ามกลางความขัดเเย้งของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง
แหล่งข่าวของวีโอเอภาคภาษาแมนดาริน ระบุว่าสี จิ้นผิง มีกำหนดเดินทางถึงสหรัฐฯ วันที่ 13 พฤศจิกายน
เป็นที่คาดหมายว่า APEC จะเป็นเวทีของการเเข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยวินนี อักกราวาล ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ Berkeley APEC Study Center ที่มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ กล่าวว่า หากสีและไบเดนได้พบกัน เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นไฮไลต์ของการประชุมครั้งนี้
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีถ้าทั้งสองได้พบกัน เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีน เต็มไปด้วยความตึงเครียด
"ผมคิดว่ามันจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมายำ่แย่ลงเรื่อย ๆ" เขากล่าว
อันที่จริงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศมีโอกาสพบปะกัน ท่าทีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความยายามบริหารจัดการความตึงเครียดไม่ให้ขยายตัวในวงกว้าง
เมื่อเดือนที่เเล้ว ประธานาธิบดีไบเดนได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ที่ทำเนียบขาวเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีสี ได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคนที่กรุงปักกิ่ง
SEE ALSO: ‘หวัง อี้’ ถึงกรุงวอชิงตัน คาดหารือปูทางประชุมสุดยอด ‘ไบเดน-สี’
และในตัวอย่างล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เเจเน็ต เยลเลน จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับรองนายกรัฐมนตรีจีน เหอ หลีเฟิง ที่จะเดินทางมาสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ ก่อนการประชุมสุดยอดเอเปค โดยทั้งคู่จะได้พบกันในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้
การประชุมระดับผู้นำประเทศเอเปคมีกำหนดระหว่างวันที่ 15 -17 พฤศจิกายน ส่วนผู้เเทนระดับสูงด้านการค้าและเศรษฐกิจจะหารือกันตั้งเเต่วันที่ 11 พฤศจิกายน
ตัวแทนภาคธุรกิจจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังมีเวทีของตน ที่ชื่อ APEC CEO summit ในสัปดาห์หน้าด้วย ระหว่าง 14 - 16 พฤศจิกายน
ดังนั้น ที่การประชุมเอเปค ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่าง ๆ จึงน่าจะหยิบหลากหลายประเด็นมาหารือกัน ตั้งแต่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ เทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน
SEE ALSO: เครื่องบินรบจีนบินประชิดเครื่องบินสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ห่าง 3 เมตร
ทั้งนี้ ประเด็นร้อนจากทะเลจีนใต้เป็นจุดอ่อนไหวในความสัมพันธ์ของรัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่ง
เมื่อปลายเดือนตุลาคม แถลงการณ์จากกองบัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ระบุว่า เครื่องบินของจีน บินเข้าหาเครื่องบินของสหรัฐฯ ด้วยความเร็วสูง และได้บินไปด้านล่างและด้านหน้าของ B-52 ในระยะประชิด 10 ฟุต (ราว 3 เมตร) “ทำให้เครื่องบินทั้งสองเสี่ยงต่อการชนกัน” ในบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตามอาจารย์วินนี อักกราวาล แห่งมหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ กล่าวว่า เขาไม่คาดหมายว่าเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่สุดในความขัดเเย้งโลกเวลานี้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเด่นที่เวทีเอเปค หากพิจารณาว่าจุดประสงค์โดยรวมของเอเปคเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
สำหรับนายกรัฐมนตรีไทย นายเศรษฐา ทวีสินจะเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโกวันที่ 12 พฤศจิกายน และคาดว่าจะเดินทางกลับไทยวันที่ 17 พฤศจิกายน ซึ่งเขามีกำหนดพบผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งผู้บริหารบริษัทเอกชน ตลอดจนชุมชนชาวไทยในการเดินทางมาครั้งนี้
- ที่มา: รอยเตอร์, วีโอเอ