เกาหลีใต้เคืองนโยบายการค้าไบเดน ระบุ 'ไม่ต่างจากยุคทรัมป์!'

A Ioniq 5 electric car of Hyundai Motor Co. is displayed at SK Innovation Co' booth during the InterBattery 2021, the country’s leading battery exhibition, at COEX in Seoul, South Korea, Wednesday, June 9, 2021. The event kicked off on Wednesday…

เกาหลีใต้แสดงความขุ่นเคืองต่อนโยบายการค้าของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเกาหลีใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญในการทำให้ประเทศพันธมิตรในเอเชียเห็นด้วยกับแผนเศรษฐกิจชุดใหม่

รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการให้ส่วนลดภาษี 7,500 ดอลลาร์แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในอเมริกา เป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวทำให้ส่วนลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหลายยี่ห้อที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องหายไปด้วย ซึ่งทำให้รถยนต์เหล่านั้นมีราคาแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ คือ ฮุนได (Hyundai) และ เคีย (Kia) ซึ่งมียอดขายมากเป็นอันสองในอเมริกา รองจาก เทสลา (Tesla)

บรรดานักการเมืองและนักธุรกิจเกาหลีใต้ต่างไม่พอใจต่อกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ ฉบับนี้ โดยบอกว่าเป็นการละเมิดหลักการขององค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) และขัดกับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้

หนังสือพิมพ์ฮันเคียวเรห์ของเกาหลีใต้ ตีพิมพ์บทบรรณาธิการเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจุดยืนจากผู้ปกป้องการค้าเสรี ไปเป็นผู้ละเมิดกฏเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ" ขณะที่หนังสือพิมพ์จูนกังระบุว่า "นโยบายการค้า 'Build Back Better' ของประธานาธิบดีไบเดนนั้น ไม่แตกต่างจากนโยบาย ‘Make America Great Again’ ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ แต่อย่างใด"

SEE ALSO: 'ไบเดน' หนุนรถยนต์ไฟฟ้าสุดตัว ที่งานแสดงรถยนต์ดีทรอยต์

สื่อเกาหลีใต้บางแห่งตั้งคำถามว่า เกาหลีใต้ควรตอบโต้ด้วยการทบทวนการเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอเมริกาเป็นผู้นำหรือไม่ ซึ่งรวมถึง กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ที่มี 14 ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วม และ กลุ่มความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เรียกว่า “Chip 4” ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้

เมื่อวันอังคาร รัฐมนตรีพาณิชย์เกาหลีใต้ชี้แจงว่า ความขัดแย้งทางการค้าครั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการเข้าร่วมในกลุ่มความร่วมมือทางการค้าต่าง ๆ แต่ก็อาจส่งแรงสะเทือนถึงความเชื่อใจและความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ได้

แม้ขณะนี้ การตำหนิวิจารณ์นโยบายการค้าของรัฐบาลไบเดนยังคงจำกัดอยู่ในบทบรรณาธิการของสื่อและแถลงการณ์ของภาคธุรกิจต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจลุกลามออกไปได้เช่นกัน

เจียงมีน ซูห์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซูงซิล (Soongsil University) ในกรุงโซล เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะไม่ลุกลามจนถึงขั้นมีการประท้วงสหรัฐฯ ในหมู่ชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากนโยบายการค้าของอเมริกานั้นส่งผลกระทบต่อบริษัทเกาหลีใต้เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้ก็อาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศได้ ตัวอย่างเช่น หากเกาหลีใต้ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อ WTO เป็นต้น

  • ที่มา: วีโอเอ