ความเห็นเชิงเกลียดชังและข้อมูลเท็จ คือประเด็นหลักของ "วันเสรีภาพสื่อโลก" ปีนี้

FILE - Journalists and activists march during World Press Freedom Day, May 3, 2018, in Nakuru, Kenya.

วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี สหประชาชาติจัดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อโลก หรือ World Press Freedom Day เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ พร้อมทั้งย้ำเตือนรัฐบาลประเทศต่างๆ ถึงความจำเป็นในการเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

สำหรับปีนี้ ธีมหลักของวัันเสรีภาพสื่อโลก คือ "สื่อเพื่อประชาธิปไตย: การรายงานข่าวและการเลือกตั้งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จ" ซึ่งเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างสื่อมวลชนกับระบอบประชาธิปไตย

ในแต่ละปี องค์การยูเนสโก (UNESCO) ของสหประชาชาติ จะจัดประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วโลก องค์กรสื่อเสรี และหน่วยงานต่างๆ ของยูเอ็น เพื่อหารือถึงแนวทางในการจัดการอุปสรรคของการมีสื่อเสรีในประเทศต่างๆ

ปีนี้การประชุมจัดขึ้นที่กรุงแอดดีส อบาบา ของเอธิโอเปีย ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากในด้านเสรีภาพสื่อ และกำลังจัดทำร่างกฎหมายที่จะเอาผิดกับการแสดงความเห็นเชิงเกลียดชังและการให้ข้อมูลเท็จตามสื่อต่างๆ

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเอธิโอเปียได้ปลดบล็อคเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 260 เว็บไซต์ และปลดปล่อยผู้สื่อข่าวทั้งหมดที่ถูกคุมขังให้เป็นอิสระ

และเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลกของทุกปี ยูเนสโกจะประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัล UNESCO/Guillermo Cano World Press Freedom Prize ซึ่งปีนี้ได้แก่สองนักข่าวชาวเมียนมาร์ ของสำนักข่าวรอยเตอร์ส คือ จอ โซ อู และ ว้า โลน ผู้ถูกรัฐบาลเมียนมาร์ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 7 ปี หลังจากที่พวกเขารายงานข่าวกองทัพเมียนมาร์ปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงจาในรัฐยะไข่อย่างทารุณ