ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หน่วยงานสื่อทั่วโลกห่วงเสรีภาพสื่อสหรัฐฯ ถูกคุกคาม


รายงานการสัมภาษณ์สื่อมวลชนอเมริกันฉบับล่าสุด ด้วยความร่วมมือของ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรือ Reporter Without Borders, International Press Institute, องค์กร Article 19, Index on Censorship และ International Freedom of Expression Exchange เปิดเผยว่า องค์กรสื่อมวลชนนานาชาติ จับตาทิศทางของสื่อสหรัฐฯ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐ การใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ การทำร้ายทางร่างกายและการจับกุมสื่อมวลชน

ในรายงานยังระบุด้วยว่า การโจมตีผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวอย่างเปิดเผยและรุนแรงโดยคณะทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯเอง ได้ทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนอเมริกันถูกลิดรอน และทำให้สื่อมวลชนอเมริกันรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างมาก

โจดี กินส์เบิร์ก ผู้บริหาร Index on Censorship บอกด้วยว่า บรรยากาศแห่งความเกลียดชังสื่อมวลชนได้บั่นทอนสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปด้วย

ขณะที่โธมัส ฮิวส์ ผู้อำนวยการองค์กร Article 19 หนึ่งในผู้ที่จัดทำรายงานด้านสื่อมวลชน บอกว่า สหรัฐฯในฐานะสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามเหมือนกับทั่วโลก หลังจากท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่จุดกระแส “ข่าวปลอม” หรือ Fake News ในการปฏิเสธข่าวถูกพาดพิงหรือข่าวที่ไม่น่าพึงพอใจนั้น ได้สร้างปรากฏการณ์ให้ผู้นำทั่วโลกเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน ทั้งประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซูเอลา ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด และนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา

ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เพิ่งจัดทำรายงานการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลก World Press Freedom Index 2018 พบว่า สหรัฐฯ มีอันดับตกลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน จากอันดับ 43 ไปอยู่ที่ 45 จากการจัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก

แต่โฆษกทำเนียบขาว ซาราห์ ฮัคเคอร์บี แซนเดอร์ส ได้ตอบโต้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันถือเป็นรัฐบาลที่เข้าถึงได้มากที่สุดชุดหนึ่งของอเมริกาในรอบหลายสิบปี ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวอย่างเป็นธรรม

ในปีนี้ นอร์เวย์คือประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุด ส่วนเกาหลีเหนือมีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุด ในการจัดอันดับดังกล่าว ขณะที่นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนทั่วโลกอย่างน้อย 23 คนถูกสังหาร และอีก 176 คนถูกจำคุก

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ได้กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก มาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อปูทางสู่การยกระดับเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติ

นายอันโตนิโอ กูเตอเรส ได้กล่าวในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ เรียกร้องให้นานาชาติใช้กฏหมายคุ้มครองความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน รวมทั้งเคารพสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ซึ่งนายกูเตอเรส ย้ำว่า สื่อมวลชนคือผู้ที่ช่วยชี้ทางให้เห็นปัญหาและความท้าทายของผู้คนทั่วโลก และเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่ควรได้รับรู้ ซึ่งความทุ่มเทของสื่อมวลชนนั้นประเมินค่าไม่ได้

XS
SM
MD
LG