องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เผยแพร่รายงาน World Press Freedom Index 2018 ซึ่งจัดอันดับประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุด ไปจนถึงน้อยที่สุด จากจำนวน 180 ประเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลก
โดยในปีนี้ นอร์เวย์คือประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุด ส่วนเกาหลีเหนือมีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุด ในการจัดอันดับดังกล่าว
สำหรับสหรัฐฯ มีอันดับตกลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยตกจากอันดับที่ 43 ไปอยู่ที่ 45 ในปีนี้ ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นผลมาจากการที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ มักจะกล่าวโจมตีสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว สำนักข่าว หรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม โฆษกทำเนียบขาว ซาราห์ ฮัคเคอร์บี แซนเดอร์ส กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า “รัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นรัฐบาลที่เข้าถึงได้มากที่สุดเท่าที่อเมริกาเคยมีมา พิจารณาจากที่ตนได้มายืนตอบคำถามนักข่าวอยู่ที่นี่ คือตัวอย่างที่ดีของการให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน”
โฆษกหญิงของทำเนียบขาวผู้นี้ยังบอกด้วยว่า เธอมักจะต้องคอยตอบคำถามที่ไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็น และไม่ได้ทำให้ประชาชนอเมริกันได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นซึ่งควรจะเป็นงานของบรรดาสื่อมวลชนมากกว่า
การโต้คารมไปมาลักษณะนี้ระหว่างนักข่าวกับโฆษกทำเนียบขาว หรือบางครั้งกับตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองนั้น ยิ่งเป็นการสร้างความแบ่งแยกในแนวคิดของคนอเมริกันที่มีต่อสื่อมวลชนกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้มากยิ่งขึ้น
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชี้ว่า ปธน.ทรัมป์ เคยระบุไว้ชัดเจนว่า “สื่อมวลชนคือศัตรูของคนอเมริกัน” รวมถึงการใช้คำว่า “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” ในการตอบโต้รายงานข่าวที่ตนไม่พอใจ ตลอดจนการข่มขู่ว่าจะถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสื่อบางสำนักด้วย
รายงานชิ้นนี้เผยด้วยว่า อดีตผู้อำนวยการ FBI นายเจมส์ โคมีย์ ที่เคยถูก ปธน.ทรัมป์ สั่งปลดจากตำแหน่ง เมื่อปีที่แล้ว เขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาว่า เมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว ตอนที่ ปธน.ทรัมป์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ได้กล่าวกับตนว่ามีผู้สื่อข่าวบางคนที่สมควรถูกจับกุม เนื่องจากเผยแพร่ข้อมูลลับของรัฐบาล
รายงานยังบอกด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการจับกุมนักข่าวในสหรัฐฯ อย่างน้อย 34 ราย รวมทั้งมีการทำร้าย หรือข่มขู่นักข่าว ผ่านช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า การถดถอยของเสรีภาพสื่อในอเมริกานั้น ไม่ได้เป็นข่าวร้ายเฉพาะผู้สื่อข่าวในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้สื่อข่าวในประเทศอื่นด้วย
หลังจากที่ผู้นำหลายประเทศหันมาใช้วิธีประณามสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาว่าเป็น “สื่อปลอม” ที่นำเสนอ “ข่าวปลอม” เหมือนที่ผู้นำสหรัฐฯ มักนำมาใช้ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง มากขึ้นจนน่าตกใจ
(ผู้สื่อข่าว Steve Herman รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)