ราคาอาหารลดลงในตลาดโลก แต่ทำไมผู้บริโภคยังจ่ายแพง?

A Thai vendor weighs a bag of rice at a market in central Bangkok.

ปัจจุบัน ราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลงจากระดับสูงสุดแล้ว รวมทั้งธัญพืช น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์จากนม และสินค้าการเกษตรต่าง ๆ แต่ดูเหมือนราคาอาหารและวัตถุดิบปรุงอาหารต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายยังคงไม่ลดลง ต้นทุนของค่าใช้จ่ายของร้านอาหารและภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม

ราคาอาหารโลกเริ่มพุ่งขึ้นก่อนที่รัสเซียจะส่งกำลังทหารบุกรุกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว และเนื่องจากยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตธัญพืชและปุ๋ยป้อนตลาดโลก ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรพุ่งทะยานยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติระบุว่า ราคาอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลง 12 เดือนติดต่อกัน หลังจากที่หลายประเทศ เช่น บราซิลและรัสเซีย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งข้อตกลงที่สหประชาชาติเป็นผู้ผลักดันให้มีการเปิดทางในทะเลดำเพื่อให้สามารถขนส่งธัญพืชจากยูเครนออกไปสู่ตลาดโลกได้

ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization) ลดต่ำลงกว่าช่วงที่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน

ถึงกระนั้น ราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายยังคงไม่ลดลง โดยเชื่อว่า เหตุผลหลักคืออัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯ ยุโรป ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ

เอียน มิทเชลล์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งโครงการยุโรปของ Center for Global Development ชี้ว่า "ตลาดอาหารต่าง ๆ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนบนโลก คุณจะรู้สึกถึงผลกระทบเมื่อราคาอาหารโลกแพงขึ้น"

คำถามคือ ทำไมอัตราเงินเฟ้อในตลาดอาหารจึงยากที่จะลดลง และหากเงินเฟ้อนั้นไม่อิงกับราคาในตลาดโลกแล้ว จะขึ้นอยู่กับอะไรกันแน่?

ต้นทุนแฝง

โจเซฟ กลอเบอร์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ราคาผลผลิตทางการเกษตรเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในสหรัฐฯ 75% ของต้นทุนราคาอาหารที่แท้จริงนั้นถูกบวกเข้าไปหลังสินค้านั้นออกจากฟาร์มไปแล้ว เช่น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนค่าดำเนินการ ค่าขนส่งและค่าแรงต่าง ๆ

ต้นทุนดังกล่าวบางส่วนยังถูกรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า "อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน" หรือ Core Inflation ซึ่งไม่รวมราคาสินค้าและพลังงานที่มีความผันผวนสูง และยากที่จะแยกออกจากระบบเศรษฐกิจโลก

กลอเบอร์ เชื่อว่า ในที่สุดแล้วอัตราเงินเฟ้อในตลาดอาหารจะลดลงแต่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะตัวแปรอื่น ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง

การผูกขาดในอุตสาหกรรมอาหาร

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อธิบายเงินเฟ้อในตลาดอาหาร คือ การผูกขาดในอุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐฯ หลังจากที่มีการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดเล็กกว่าหลายรายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมื่อปีที่แล้ว ทำเนียบขาวออกมาวิจารณ์ที่มีบริษัทผลิตเนื้อสัตว์เพียง 4 แห่งในสหรัฐฯ ที่ครอบครองตลาดเนื้อวัวถึง 85% เช่นเดียวกับตลาดเนื้อหมูที่ 70% ครอบครองโดย 4 บริษัท ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีอำนาจทางการตลาดในการกำหนดราคาสินค้าของพวกตนได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม โจเซฟ กลอเบอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการที่สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ (International Food Policy Research Institute) ไม่เชื่อว่าการผูกขาดในธุรกิจการเกษตร คือ สาเหตุหลัก โดยเขาคิดว่า เมื่อบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นราคาสินค้าเพื่อทำกำไร ผลกำไรนั้นจะลดลงในเวลาอันรวดเร็ว

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ด้วยว่า ค่าเงินดอลลาร์แข็งคืออีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารยังอยู่ในระดับสูง "ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีถูกอ้างอิงด้วยค่าเงินดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งทำให้ประชาชนในประเทศนั้น ๆ มองเห็นแต่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น แต่ไม่เห็นราคาแท้จริงของสินค้าที่ลดลงซึ่งสะท้อนอยู่ในตลาดโลก และดัชนีราคาอาหารของยูเอ็น"

  • ที่มา: เอพี