ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไขปัญหาการเงินยูเครนหลังสงคราม เงินเฟ้อ-หนี้ท่วม-ค่าเงินร่วง?


GLOBAL-POY/2022
GLOBAL-POY/2022

ในขณะที่ยูเครนกำลังยินดีกับชัยชนะเหนือทหารรัสเซียในสมรภูมิหลายแห่ง รัฐบาลกรุงเคียฟก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยมีคำถามสำคัญคือจะชดใช้ต้นทุนของสงครามครั้งนี้อย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเกินควบคุม หรือทำให้เกิดปัญหาหนี้สะสมซึ่งจะขัดขวางความพยายามฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงคราม

อุปสรรคสำคัญของยูเครนในตอนนี้ คือการหาแหล่งเงินกู้หรือเงินบริจาคเพื่อบรรเทายอดขาดดุลงบประมาณมหาศาลในปีหน้า โดยไม่กระทบต่อค่าเงินฮริฟเนียของยูเครน

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า หากยูเครนสามารถหาแหล่งเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูประเทศได้จนถึงช่วงสิ้นปีหน้า จะกลายเป็นฝ่ายรัสเซียเองที่ประสบปัญหาทางการเงินหากว่ามาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของรัสเซียซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเสนออยู่นั้น ใช้ได้ผลจริง

ยูเครนจ่ายค่าสงครามอย่างไร?

ในช่วงแรกของสงคราม รัฐบาลยูเครนขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเงินไม่พอ ธนาคารกลางยูเครนก็จะใช้วิธีพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและอัดฉีดเงินให้แก่รัฐบาลกรุงเคียฟ รวมทั้งระงับการจ่ายเงินบำนาญและเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการพิมพ์ธนบัตรเองจำนวนมากอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงและค่าเงินของยูเครนร่วงหล่นได้ในระยะยาว โดยปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในยูเครนอยู่ที่ระดับ 27%

นาตาเลีย ชาโปวาล นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Kyiv School of Economics ในกรุงเคียฟ กล่าวว่า ยูเครนเคยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมาแล้วเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 จนต้องเปลี่ยนมาใช้เงินฮริฟเนียแทนค่าเงินเดิมที่แทบไร้ค่า และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก แต่ขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลและธนาคารกลางยูเครนกำลังอยู่บนความเสี่ยงอีกครั้งเนื่องจากพิมพ์เงินออกมามากเกินไป

เสถียรภาพของค่าเงินและความสามารถในการจ่ายเงินบำนาญคือปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชนทั่วไป ในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังระดมโจมตีทำลายเครือข่ายพลังงานและสาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง

ยูเครนต้องการความช่วยเหลือมากแค่ไหน?

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า ยูเครนต้องการเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอีกราว 38,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 17,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการฟื้นฟูบูรณะประเทศภายหลังสงคราม

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของ Kyiv School of Economics เชื่อว่า เงินบริจาคราว 50,000 ล้านดอลลาร์น่าจะเพียงพอสำหรับยูเครนจนถึงสิ้นปีหน้า พร้อมชี้ว่า ภายในกลางปีหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจของยูเครนน่าจะกระเตื้องขึ้นจากการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของชาติพันธมิตรต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐสภายูเครนอนุมัติงบประมาณด้านกลาโหมสำหรับปี 2023 ซึ่งมากกว่าปีนี้ถึง 6 เท่า คิดเป็น 43% ของงบประมาณทั้งหมด และ 18.2% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมทั้งหมดของยูเครน โดยภายใต้งบประมาณฉบับนี้ ยูเครนจะขาดดุลราว 1.3 ล้านล้านฮริฟเนีย ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลกรุงเคียฟต้องพยายามหาเงินให้ได้ราว 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อลดการขาดดุลดังกล่าว และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับการบูรณะซ่อมแซมประเทศหลังสงคราม

Ukrainian soldiers buy food in Kostyantynivka, eastern Ukraine on Dec. 1, 2022, amid the Russian invasion of Ukraine.
Ukrainian soldiers buy food in Kostyantynivka, eastern Ukraine on Dec. 1, 2022, amid the Russian invasion of Ukraine.

ยูเครนได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้วมากน้อยแค่ไหน?

สหรัฐฯ คือผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของยูเครน โดยให้ความช่วยเหลือไปแล้วทั้งหมด 52,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือด้านการเงิน 15,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สมาชิกอียูรับปากให้เงินช่วยเหลือยูเครนแล้วเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไปถึงยูเครนล่าช้า อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบัน Kiel Institute for the World Economy

ขณะเดียวกัน สภาสหภาพยุโรปได้เสนอเงินกู้ระยะยาวไม่มีดอกเบี้ยมูลค่า 18,000 ล้านยูโรให้แก่ยูเครนสำหรับปีหน้า และคาดว่าสหรัฐฯ เตรียมเสนอเงินกู้ให้ในจำนวนพอ ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลยูเครนต้องการเงินช่วยเหลือในรูปของเงินให้เปล่ามากกว่าเงินกู้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาหนี้สะสมจนถึงระดับ 100% ของมูลค่าจีดีพีจากระดับ 83% ของจีดีพีในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงครามประสบปัญหาได้

ความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ?

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ให้เงินกู้ฉุกเฉินแก่ยูเครนไปแล้ว 1,400 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,300 ล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออกอาหารที่หายไป

คริสตาลินา จอร์จิเอวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ กล่าวกับเอพีว่า ทางไอเอ็มเอฟกำลังร่วมมือกับประเทศกลุ่มจี-7 เพื่อหาเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ยูเครนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังคงไม่สามารถจัดหาเงินกู้ก้อนใหญ่ในระดับ 15,000 - 20,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนได้ เนื่องจากขัดกับนโยบายของไอเอ็มเอฟที่จะไม่ให้เงินกู้ก้อนใหญ่แก่ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชดใช้หนี้ในระยะยาว และไม่มีอำนาจควบคุมดินแดนในการปกครองทั้งหมดของตนเอง

อัดนาน มาซาเร นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Peterson Institute for International Economics และอดีตเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ในการจัดหาเงินช่วยเหลือแก่ยูเครน ไอเอ็มเอฟอาจจำเป็นต้องบิดนโยบายที่ใช้อยู่ หรือปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในยูเครน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG