ภายหลังมีรายงานข่าวผลการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมอย่างไม่เป็นทางการออกมา นักวิเคราะห์หลายคนออกมาให้ความเห็นกันทันทีว่า ทายาทอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งเป็นว่าที่ผู้ชนะการเลือกตั้งวัย 74 ปีนี้น่าจะพยายามหันไปสานสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยไม่เสียแรงหนุนจากสหรัฐฯ ที่มีอยู่ไป
สำนักข่าว Radio Free Asia ซึ่งเป็นสื่อภายใต้ USAGM เช่นเดียวกับ วีโอเอ รายงานว่า มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ‘บองบอง’ เคยกล่าวไว้ว่า ตนต้องการจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจะไม่กลับไปพูดถึงประเด็นคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ซึ่งปฏิเสธคำอ้างอธิปไตยของจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ หลังกรุงมะนิลายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลดังกล่าวเพื่อแย้งคำอ้างของกรุงปักกิ่ง
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างหาเสียงนั้น มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับจีนมากนัก ซึ่งต่างจากประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ ที่ชูธงหนุนจีนมาตั้งแต่เมื่อรับตำแหน่งในปี ค.ศ. 2016 ก่อนที่ สายสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีนจะเริ่มย่ำแย่ลง จนรัฐบาลกรุงมะนิลาค่อย ๆ หันไปหากรุงวอชิงตันอีกครั้งเพื่อขอแรงสนับสนุนทางทหารเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดกรณีความขัดแย้งทางทะเลกับกรุงปักกิ่ง
แผนหาเสียงที่มุ่งล้างภาพในอดีต
ศูนย์ Center for Strategic and International Studies ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันจันทร์ว่า ขณะที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้เป็นพ่อและเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งคนแรกของฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1965 ถูกจดจำว่า เป็นผู้นำที่ทำการคุมขัง ทรมาน และสังหารผู้คนนับพันก่อนจะถูกโค่นอำนาจด้วยการปฏิวัติพลังประชาชนในปี ค.ศ. 1986 มาร์กอส จูเนียร์ กลับหาเสียงเลือกตั้งด้วยการมุ่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพ่อของตน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ว่า “เป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุขและรุ่งเรือง” และปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในช่วงการโต้วาทีหรือการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้มาโดยตลอด
บทความดังกล่าวระบุด้วยว่า มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า ตนต้องการจะลองปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนดูบ้าง หลังปธน.ดูเตร์เต้ พยายามแล้วประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว
นักวิเคราะห์ประเมินว่า ว่าที่ผู้ชนะการเลือกตั้งรายนี้น่าจะพยายามหาเส้นทางเดินสายกลางเข้าหาทั้งจีนและสหรัฐฯ มากกว่าจะกระโจนเข้าใส่จีนเต็มตัว
อย่างไรก็ดี ซาตู ลิมาเย รองประธานองค์กรวิจัย East-West Center ซึ่งตั้งอยู่ที่นครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ชี้ว่า การที่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีนมายังฟิลิปปินส์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ทิศทางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกรุงมะนิลายังต้องเปิดกว้างต่อไป เพราะ “จีนยังเป็นขาใหญ่ภูมิภาคนี้” และ “ฟิลิปปินส์เองก็มีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับจีน ขณะที่ (จีนเอง) จะช่วยสร้างสมดุล ... อย่างที่มีคนกล่าวไว้ ... ในความสัมพันธ์ที่มีการพึ่งพาสหรัฐฯ มากเกินไปด้วย”
วีโอเอ ติดต่อไปยังสถานทูตจีน ในกรุงวอชิงตัน เพื่อสอบถามประเด็นนี้ และโฆษกของสถานทูตฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า การลงคะแนนเลือกตั้ง “เป็นกิจการภายใน”
เอนริโก เคา ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งสมาคม Taiwan Strategy Research Association กล่าวว่า โดยปกติ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักพยายามสร้างสัมพันธภาพ “อย่างมีสมดุล” กับจีนและสหรัฐฯ โดยมักหันไปหาจีนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และหันไปคุยกับสหรัฐฯ เพื่อความแรงสนับสนุนด้านการทหาร ดังนั้น “การสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ (สำหรับประเทศต่าง ๆ)”
ประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ ที่ยังไม่มีทางออก
เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนและเรือประมงของจีนกลับมาล่องตามแนวเส้นทางในทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์ยืนยันว่า อยู่ภายใต้อธิปไตยของตน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหมือนบททดสอบมิตรภาพระหว่างปธน.ดูเตรเต้และรัฐบาลกรุงปักกิ่ง จนกระทั่งถึงช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2021 ที่เรือจีนเข้าทอดสมอบริเวณแนวปะการังที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ จนทำให้ชาวฟิลิปปินส์และคณะรัฐมนตรีของปธน.ดูเตรเต้ไม่พอใจอย่างมาก
แต่สำหรับรัฐบาลใหม่ที่น่าจะนำโดย มาร์กอส จูเนียร์ นั้น เอนริโก เคา จากสมาคม Taiwan Strategy Research Association ประเมินว่า น่าจะหาทางแก้ปัญหาผ่านการทำงานร่วมกันของสถานทูตของทั้งสองประเทศ พร้อม ๆ กับการยกระดับมาตรการด้านความมั่นคงตามแนวชายฝั่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก
เคา กล่าวว่า แนวโน้มที่เริ่มปรากฏขึ้นในเวลานี้คือ การดำเนินแนวทางที่ค่อนข้างขัดแย้งกันไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็คือ “การเอาใจจีนเข้าไว้ เพราะฟิลิปปินส์ในเวลานี้ยังไม่มีสรรพกำลังความสามารถที่จะต่อต้านอะไรได้ ขณะที่พยายามพัฒนามาตรการที่เหมาะสมขึ้นมาสำหรับการรับมือจีนในอนาคตไปด้วย”
ที่ผ่านมา จีนชูเอกสารทางประวัติศาสตร์เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือราว 90% ของพื้นที่ 3,500,000 ตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยทับซ้อนกับพื้นที่ที่บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม อ้างสิทธิ์เหมือนกัน ขณะที่ จีนเองก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ที่มีความพร้อมทางทหารที่อ่อนแอกว่ามากตื่นตระหนกตลอดช่วยทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าถมทะเลเพื่อติดตั้งสรรพกำลังอาวุธทางทหารของตนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ด้วย
- ที่มา: วีโอเอ