สัตว์ป่านับล้านชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ หากมนุษย์ไม่ปรับพฤติกรรม

A fisherman carries a large Pirarucu (Arapaima gigas) at the Piagacu-Purus Sustainable Development Reserve in Amazonas state, Brazil, Oct. 24, 2019.

ในแต่ละวัน ผู้คนหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาพืชและสัตว์จากป่าเพื่อให้ได้อาหาร ยา รวมถึงพลังงาน แต่รายงานฉบับใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การใช้ทรัพยากรที่มากจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการตัดไม้ทำลายป่า กำลังผลักดันให้สายพันธุ์ต่าง ๆ จำนวนมากกว่าล้านชนิด เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์

หน่วยงานด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการระบบนิเวศ หรือ IPBES รายงานในช่วงต้นเดือนกรกฏาคมว่า หากมนุษย์ไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โลกของเราจะสูญเสียพันธุ์ป่าไม้ราว 12% สายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนนับพัน และสัตว์จำพวกฉลามและปลากระเบนอีกเกือบ 450 สายพันธุ์ รวมถึงอาจประสบความเสียหายขั้นหายนะที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกหลายอย่าง

สำหรับหน่วยงาน IPBES นั้น เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐ ซึ่งมีความอิสระและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ แต่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของ UN

รายงานดังกล่าวชี้ว่า มนุษย์มีการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ที่มาจากป่าราว 50,000 สายพันธุ์เป็นประจำ และ 1 ใน 5 ของประชากรจำนวน 7.9 พันล้านคนบนโลกใบนี้ต่างพึ่งพาสายพันธุ์ข้างต้นเพื่อใช้เป็นอาหารและสร้างรายได้ ส่วนในทวีปแอฟริกานั้น สัดส่วนของคนที่พึ่งพาป่าไม้นั้นสูงถึง 1 ใน 3 เพื่อนำฟืนมาใช้ในการก่อไฟสำหรับการปรุงอาหาร

มาร์ลา อาร์ เอเมอร์รี นักวิจัยจากกรมป่าไม้สหรัฐฯ และเป็นประธานร่วมโครงการรายงานนี้จากสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าว เอพี ว่า “การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราต้องการที่จะส่งต่อไปสู่คนรุ่นถัดไป และเมื่อสายพันธุ์ในป่าเกิดความไม่ยั่งยืน ย่อมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและมนุษย์”

รายงานนี้ยังให้คำแนะนำและนำเสนอตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างยั่งยืนให้กับผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายทั้งหลาย พร้อมเน้นย้ำจุดสำคัญในการมุ่งช่วยชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นสามารถรักษาสิทธิ์ในการใช้งานสัตว์และพันธ์ไม้ป่าอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า ชนพื้นเมืองคือ ผู้ที่ครอบครองพื้นที่รวมกันประมาณ 38 ล้านตารางกิโลเมตร ใน 87 ประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพื้นที่ซึ่งได้รับการอนุรักษ์อยู่

FILE - Old-growth Amazon tree canopy is seen in Tapajos National Forest, Brazil.

เอเมอร์รี กล่าวว่า “ที่ดินของชนพื้นเมืองมีแนวโน้มที่เกิดความยั่งยืนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่นด้วย” โดยเธอมองว่า สิ่งที่สำคัญคือ การจัดตั้งระบบในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา เพื่ออนุรักษ์ภาษาพื้นเมือง เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้คนเก่าแก่สามารถถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิมรวมถึงแนวทางปฏิบัติไปสู่คนรุ่นถัดไปได้

ฌอน มาร์ค โฟรมันตัน ประธานร่วมโครงการจัดทำรายงานนี้จากฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอพี โดยยกตัวอย่าง การตกปลาช่อนยักษ์อะแมซอน (arapaima) หนึ่งในปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากลุ่มน้ำอะแมซอน ประเทศบราซิล และอธิบายว่า “บางชุมชนในบราซิลทำแผนจัดการในระดับชุมชนขึ้นมา ก่อนที่จะเชิญให้นักวิทยาศาสตร์มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชีววิทยาของปลาและช่วยวางระบบสังเกตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นแนวปฏิบัติที่ขยายไปสู่ชุมชนและประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น เปรู เป็นต้น”

เกรกอริโอ มิราบอล หัวหน้าขององค์กรส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของชนพื้นเมือง COICA (Coordinator of the Indigenous Organizations of the Amazon Basin) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในรายงานดังกล่าว บอกกับ ผู้สื่อข่าว เอพี ว่า หลายครั้งที่การศึกษาขององค์การสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงภัยคุกคามจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหา

An aerial view of the environmental damage caused by illegal mining at the Canaima National Park in southern Bolivar State June 17, 2010. Venezuela's army has evicted thousands from makeshift towns in one of the world's most pristine jungles, where wildca

ผู้นำของชนพื้นเมืองยังกล่าวถึงปัญหาที่กำลังขยายตัวขึ้นในระดับภูมิภาค อย่างเช่น การปนเปื้อนของน้ำที่เกิดมาจากการใช้สารปรอทในการทำเหมืองผิดกฎหมาย รวมไปถึงการรั่วไหลของน้ำมัน และเมื่อคนที่ออกมาต่อต้านก็ถูกคุกคามด้วยความรุนแรง อย่างเช่น เมื่อไม่นานนี้ที่มีการสังหารชนพื้นเมืองที่ลุกขึ้นต่อสู้ ในพื้นที่การทำเหมืองในประเทศเวเนซุเอลา

มิราบอล บอกว่า “มีการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมเหตุสมผลในลุ่มน้ำอะแมซอน แต่กลับไม่มีการลงทุนด้านสังคมเพื่อปรับปรุงสำหรับชนพื้นเมือง ทั้งในเรื่องสุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม และสถานการณ์ด้านอาหาร”

รายงานดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากตัวแทนของประเทศสมาชิกจำนวน 139 ประเทศ ที่รวมตัวกันที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยผู้ที่มาร่วมการประชุมดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ทั้งนักวิทยาศาสตร์ไปจนถึงผู้มีความรู้เรื่องชนพื้นเมือง

  • ที่มา: เอพี