รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่ามีคนมากกว่าแปดแสนคนกระทำอัตวินิบาตกรรมในแต่ละปี

Your browser doesn’t support HTML5

Who Suicide

รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวว่า ในแต่ละปีมีคนมากกว่าแปดแสนคนกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือฆ่าตัวตาย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้คนที่เสียชีวิตเพราะความขัดแย้ง สงครามหรือภัยธรรมชาติรวมกัน ในขณะเดียวกัน มีไม่กี่ประเทศที่มีนโยบายป้องกันการกระทำเช่นนี้

นาย Shekhar Saxena ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพจิตและการเสพติดของ WHO บอกว่า ชุมชนสามารถให้ความช่วยเหลือคนที่มีจิตใจเปราะบางได้มาก เพราะผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายนั้น มักจะแสวงหาความช่วยเหลือก่อนที่จะทำเช่นนั้น ไม่ว่าจากเพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือระบบทั้งทางด้านสังคมและการบำบัดรักษา

การฆ่าตัวตายจะเป็นหนทางสุดท้ายเมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือ

WHO ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก และ 75% ของผู้ที่เสียชีวิต เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำและปานกลาง ส่วนวิธีฆ่าตัวตายที่ใช้กันมาก คือยาฆ่าแมลง การแขวนคอ หรืออาวุธปืน

ตัวเลขการวิจัยในหลายประเทศในยุโรป สหรัฐ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าการจำกัดไม่ให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ สามารถช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้

รายงานเรื่องนี้ของ WHO กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้ที่ฆ่าตัวตายจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอายุ 70 ปีหรือสูงกว่านั้น ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 15 – 29 ปี การเสียชีวิตเพราะการกระทำเช่นนี้ เป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้

เจ้าหน้าที่ของ WHO บอกไว้ด้วยว่า ถ้าดูตัวเลขโดยรวมแล้ว มีผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในประเทศที่ร่ำรวย แต่ถ้าดูตัวเลขระดับภูมิภาค ประเทศในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง และบางประเทศในเอเชีย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ Alexandra Fleischmann ของฝ่ายสุขภาพจิตและการเสพติดของ WHO บอกว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างรายงานของสื่อในเรื่องการฆ่าตัวตาย กับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นตามมาเป็นการลอกเลียนแบบ และอยากเตือนสื่อว่า ไม่ควรทำให้การรายงานข่าวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายของบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นเรื่องที่น่าสนใจหรือน่าตื่นเต้น เพราะอาจมีคนอยากทำเช่นนั้นเป็นการเลียนแบบ

รายงานเรื่องการกระทำอัตวินิบาตกรรมของ WHO ฉบับนี้เป็นฉบับแรก โดยมุ่งจะหาทางป้องกัน และได้จัดทำข้อเสนอแนะไว้ให้หลายข้อด้วยกัน

ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือการเรียกร้องให้เลิกกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฆ่าตัวตาย หรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย มี 25 ประเทศในแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียที่กำหนดโทษไว้เช่นนั้น

รายงานของ WHO ให้เหตุผลว่า บางทีอาจมีคนที่รับประทานยาหรือเสพยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่จะถูกลงโทษ แทนที่จะได้รับการรักษาพยาบาลก็เป็นได้