เฮซบอลลาห์ได้หัวหน้ากลุ่มคนใหม่ พร้อมประกาศเดินหน้าโจมตีอิสราเอล

แฟ้มภาพของรองหัวหน้ากลุ่มเฮซบอลลาห์ ชีค นาอิม คาสเซม ได้รับเลือกให้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนใหม่ของกลุ่มติดอาวุธนี้ ในวันที่ 29 ต.ค. 2567

กลุ่มติดอาวุธเฮซบอลลาห์ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในเลบานอน ประกาศในวันอังคารว่า ชีค นาอิม คาสเซม คือหัวหน้าคนใหม่ของกลุ่ม หลังอิสราเอลทำการโจมตีทางอากาศเข้าใส่กรุงเบรุตและสังหาร ฮัสซาน นาซรัลลาห์ อดีตหัวหน้าของกลุ่มไปเมื่อเดือนกันยายน

รอยเตอร์ระบุว่า คาสเซมนั้นเป็นสมาชิกอาวุโสที่มีบทบาทในเฮซบอลลาห์มานานกว่า 30 ปี

แถลงการณ์ของเฮซบอลลาห์ที่ร่วมโจมตีอิสราเอลเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฮามาส ประกาศว่า สภาชูราของกลุ่มติดอาวุธนี้เลือกคาสเซมซึ่งทำหน้าที่รองหัวหน้าเฮซบอลลาห์มากว่า 3 ทศวรรษขึ้นเป็นผู้นำแทน แต่ระบุว่า ทางกลุ่มจะดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายของนาสรัลลาห์ต่อไป

SEE ALSO: อิสราเอลโจมตีทางอากาศสนั่นกรุงเบรุต - หมายหัวผู้นำเฮซบอลลาห์

รายงานข่าวระบุด้วยว่า คาสเซมเคยขึ้นพูดต่อหน้ากล้องจากสถานที่ที่ไม่มีการเปิดเผยมาว่าเป็นที่ใด เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมว่า ความขัดแย้งระหว่างเฮซบอลลาห์และอิสราเอลนี้คือสงครามที่จะจบลงที่ว่า ใครจะร้องขอชีวิตก่อน และเฮซบอลลาห์จะไม่เป็นฝ่ายร้องก่อนอย่างแน่นอน พร้อมย้ำว่า ความสามารถในการรบของกลุ่มยังเข้มแข็งอยู่ แม้จะถูกอิสราเอล “โจมตีอย่างเจ็บปวด” ก็ตาม

แต่คาสเซมกล่าวเสริมว่า เฮซบอลลาห์สนับสนุนความพยายามของประธานสภาเลบานอน นาบิห์ เบอร์ริ ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธนี้ ในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิง โดยนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขว่า จะต้องมีการบรรลุข้อตกลงสงบศึกในกาซ่าก่อนเฮซบอลลาห์จะยอมหยุดยิงใส่อิสราเอล

คำแถลงนี้มีออกมาไม่กี่วันก่อนการสังหาร ฮาเชม ซาฟีดดีน ผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่ม หลังการเสียชีวิตของ ฮัสซาน นาซรัลลาห์

Your browser doesn’t support HTML5

อิสราเอลยืนยันปลิดชีพว่าที่หัวหน้าคนใหม่ของเฮซบอลลาห์

คาสเซมเป็นชาวเลบานอนที่เกิดในกรุงเบรุตเมื่อปี 1953 ก่อนจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม Amal Movement ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์และถอนตัวออกมาในปี 1979 มาร่วมการประชุมของนักเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่นำมาสู่การก่อตั้งเฮซบอลลาห์เพื่อตอบโต้การรุกรานเลบานอนโดยอิสราเอลในปี 1982 ภายใต้การหนุนหลังของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หรือ Islamic Revolutionary Guards Corps (IRGC) ของอิหร่าน

  • ที่มา: รอยเตอร์