Your browser doesn’t support HTML5
องค์การอนามัยโลก หรือย่อๆว่า WHO มีคำเตือนออกมาจากที่ประชุมระดับโลกครั้งแรกในเรื่องสุขภาพและบรรยากาศโลกที่นคร Geneva ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ทำให้โรคร้ายระบาดและประชากรโลกจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น WHO กล่าวเร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันทำงานเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกพืช ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
แพทย์หญิง Maria Neira ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และตัวกำหนดทางสังคมของ WHO บอกว่ามีการเสียชีวิตทั่วโลกปีละประมาณ 7 ล้านคน เพราะมลพิษทางอากาศ ซึ่งควรจะลดได้ ถ้าลดโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ เช่น โรคที่เกี่ยวกับเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงหัวใจ โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจได้ ด้วยการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอน และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
เจ้าหน้าที่ของ WHO ผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า กำลังมีการทำงานปรับปรุงการติดตามดูและการควบคุมโรคติดต่อ อย่างเช่น อหิวาตกโรค ไข้จับสั่น และไข้เลือดออก ซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและบรรยากาศโลก
ตัวเลขที่ WHO เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้มีการเสียชีวิตนับหมื่นๆ คนทุกปี และ WHO เตือนว่า แนวโน้มในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2030 – 2050 บ่งชี้ว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอีกปีละราวๆ สองแสนห้าหมื่นคน เพราะอากาศร้อนจัด โรคท้องร่วง ไข้จับสั่น และทุโภชนาสำหรับเด็ก
แต่ Alistair Woodward ผู้ประสานงานและผู้เขียนรายงานด้านสุขภาพให้กับรายงานการประเมินผลของคณะกรรมการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ความเห็นว่า ยังมีเวลาพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
เขายกตัวอย่างการปรับระบบขนส่งคมนาคม ซึ่งอาจเป็นผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกพืชมากถึง ¼ และทำลายสิ่งแวดล้อมในหลายลักษณะด้วยกัน ด้วยวิธีต่างๆ เช่นใช้จักรยาน ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอน ใช้ไส้กรองดีเซล และเตาหุงต้มอาหาร เหล่านี้เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ เฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการสาธารณสุขนั้น คาดว่า จะตกประมาณปีละสองถึงสี่พันล้านดอลล่าร์ต่อปีภายใน ค.ศ. 2030