การลดตัวก่อมลพิษในอากาศจะช่วยป้องกันประชากรหลายล้านคนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

  • Lisa Schlein
คาร์บอนดำหรือเขม่าเเก๊สมีเทนและแก๊สโอโซนที่ปะปนอยู่ในหมอกควันเสียในเมืองใหญ่ ต่างมีผลต่อภาวะโลกร้อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

Your browser doesn’t support HTML5

WHO Climate Pollutants

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า การลดมลพิษหลายชนิดที่ปะปนอยู่ในอากาศเพียงระยะเวลาสั้นๆ ลง ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนดำ แก๊สโอโซนและแก๊สมีเทน จะช่วยป้องกันคนหลายล้านคนทั่วโลก จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรต่อปี

คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแก๊สเรือนกระจกตัวหลักที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน แต่คาร์บอนดำหรือเขม่าเเก๊สมีเทน และแก๊สโอโซนที่ปะปนอยู่ในหมอกควันเสียในเมืองใหญ่ ต่างมีผลต่อภาวะโลกร้อนและยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ชี้ว่าตัวก่อมลพิษทางอากาศที่มีอายุสั้นเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและโรคปอด

รายงานของ WHO ยังระบุด้วยว่ามลพิษในอากาศที่อายุสั้นเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรถึงปีละกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก WHO ชี้ว่าตัวมลพิษทางอากาศเหล่านี้ยังส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอีกด้วย

คุณ Maria Neira หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า มลพิษทางอากาศเหล่านี้พบได้ทั้งภายในตัวอาคารและภายนอกตัวอาคาร และมีบทบาทต่อภาวะโลกร้อนอย่างมาก

แต่ยังดีที่ตัวก่อมลภาวะทางอากาศเหล่านี้อยู่ในชั้นบรรยากาศเพียงระยะเวลาไม่นานมากตั้งแต่ไม่กี่วันไปจนถึง 10 ปี เมื่อเทียบกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศนานถึง 100 ปีหรือแม้เเต่หลายพันปี

คุณ Neira กล่าวว่าเนื่องจากตัวมลพิษเหล่านี้มีอายุสั้น หากหาทางลดปริมาณลงมาได้ก็จะมีผลดีอย่างมากต่อการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่จะเข้าไปสู่ชั้นบรรยากาศ และช่วยปรับปรุงคุณภาพของอากาศให้ดีขึ้น ตลอดจนยังช่วยทุเลาอัตราการเกิดภาวะโลกร้อนลงได้

นอกจากนี้ยังจะช่วยลดปัญหาสุขภาพและโรคต่างๆ ที่เกิดจากมลพิษทางอากาศลงได้ด้วย

องค์การอนามัยโลกได้คิดค้นมาตรการออกมาหลายอย่าง เพื่อควบคุมปริมาณตัวมลพิษทางอากาศอายุสั้นเหล่านี้ มาตรการอันดับแรกคือการลดปริมาณควันเสียที่ปล่อยออกมาจากยานยนต์ด้วยการตั้งระดับการควบคุมที่สูงขึ้น

มลพิษทางอากาศภายในตัวอาคารเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีคนราว 2,800 ล้านครัวเรือนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ไม่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ฟืนและน้ำมันเคโรซีนหรือที่เราเรียกว่าน้ำมันก๊าด ในการหุงต้มอาหารและทำความอุ่น

รายงานขององค์การอนามัยโลกชี้ว่าการใช้พลังงานที่สะอาดในการหุงต้มอาหาร จะช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพลงได้