จะเกิดอะไร หากรัสเซียไม่ส่งก๊าซให้เยอรมนี? 

Germany Russia Pipeline

เยอรมนีกังวลต่อข้อเรียกร้องจากรัสเซียที่จะกำหนดผู้ซื้อก๊าซบางส่วนชำระค่าก๊าซเป็นสกุลเงินรูเบิล ทั้งนี้ เยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และกังวลว่าข้อเรียกร้องนี้อาจยกระดับจนทำให้เกิดปัญหาในการจัดส่งก๊าซ

เมื่อปีที่แล้ว เยอรมนีนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซนำเข้าทั้งหมด และแม้ยอดนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะลดลงเหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า เยอรมนีจะยังต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียต่อไปจนถึงกลางปีค.ศ. 2024

ปัญหาคืออะไร?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียระบุว่า จะจัดทำกลไกภายในวันที่ 31 มีนาคม เพื่อให้ประเทศที่ “ไม่เป็นมิตร” หรือประเทศที่ออกมาตรการลงโทษรัสเซีย ต้องชำระค่าก๊าซจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยรวมถึงเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักของยุโรป และชาติพันธมิตรอื่นๆ ในยุโรป

ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ชำระค่าก๊าซให้รัสเซียเป็นเงินยูโรหรือเงินดอลลาร์

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีไม่รับข้อเรียกร้องของรัสเซีย โดยระบุว่าสัญญาซื้อขายก๊าซจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในปัจจุบัน

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุถึงประเด็นดังกล่าวสั้นๆ ว่า “ถ้าไม่ชำระเงิน (รัสเซีย) ก็จะไม่ขายก๊าซให้”

ทั้งนี้ บริษัทหลักของเยอรมนีที่ทำสัญญาซื้อขายก๊าซจากรัสเซียในระยะยาวได้แก่ Uniper, RWE และ VNG โดยบริษัทเหล่านี้ยังไม่แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้

Russia-Germany potential gas disruption infographic

จะเกิดอะไรขึ้นหากการส่งก๊าซจากรัสเซียสะดุดลง?

สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานของเยอรมนี BDEW เรียกร้องให้รัฐบาลทำแผนฉุกเฉินระดับชาติเพื่อเตรียมรับมือหากเกิดเหตุขัดข้องในการรับก๊าซจากรัสเซีย

ทั้งนี้ เยอรมนีมีแผนก๊าซฉุกเฉินเพื่อเตรียมแจ้งเตือนเหตุก๊าซขัดข้องในสามระดับ โดยระดับแรกจะแจ้งเตือนเมื่อเริ่มมีสัญญาณว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินด้านพลังงาน และจะมีการแจ้งเตือนระดับสองหากเหตุขัดข้องในการรับก๊าซหรือความต้องการก๊าซที่มากเกินปกติจนทำให้เกิดปัญหา แต่ยังสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องการแทรกแซง

แผนดังกล่าวจะมีการแจ้งเตือนขั้นที่สามหรือขั้นฉุกเฉิน หากกลไกการตลาดไม่สามารบรรเทาการขาดแคลนก๊าซได้ โดยหน่วยงานเครือข่ายของรัฐบาลกลาง Bundesnetzagentur จะเข้ามาตัดสินใจว่าจะจ่ายก๊าซที่เหลือไปทั่วประเทศอย่างไร

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเยอรมนียังไม่ระบุว่าจะต้องมีการแจ้งเตือนดังกล่าวแต่อย่างใด

ใครจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกๆ

หากเยอรมนีไม่มีก๊าซมากพอ แวดวงอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซเป็นปริมาณหนึ่งในสี่ของความต้องการทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยภาคครัวเรือน ในขณะที่โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และสถานที่สาธารณะที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับสุดท้าย

  • ที่มา: รอยเตอร์