จนท.สหรัฐฯ ชี้ความสัมพันธ์วอชิงตัน-โซล สะท้อน 'เเนวร่วมทางนิวเคลียร์'

  • VOA

ผู้สื่อข่าววีโอเอภาคภาษาเกาหลี ยุนจุง โช สัมภาษณ์ วิพิน นารัง รักษาการผู้ช่วยรมต.กลาโหมสหรัฐฯ ด้านนโยบายอวกาศ 16 ก.ค. 2024

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอเมริกันกล่าววันอังคารว่าความสัมพันธ์ระหว่างทางการวอชิงตันและโซล สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรกันทางนิวเคลียร์ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลของสหรัฐฯและเกาหลีใต้ลงนามในเเนวทางการป้องปรามฉบับใหม่

ข่าวดังกล่าวสะท้อนถึงความเเน่นแฟ้นที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐบาลวอชิงตันและโซล

วิพิน นารัง รักษาการผู้ช่วยรมต.กลาโหมสหรัฐฯ ด้านนโยบายอวกาศ กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลี ในการสัมภาษณ์พิเศษวันอังคารว่า "เมื่อเราเสนอการช่วยป้องปรามทางนิวเคลียร์ให้กับพันธมิตรของเรา นั่นก็คือความเป็นพันธมิตรทางนิวเคลียร์ และเกาหลีใต้ก็เป็นตัวอย่างดังกล่าว"

นารัง อธิบายว่าความสัมพันธ์นี้คล้ายกับความเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯ​และประเทศในยุโรปภายใต้กลุ่มนาโต้

"นาโต้ระบุอย่างเปิดเผย เป็นตัวอย่างว่าตราบใดที่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ นาโต้จะเป็นกลุ่มพันธมิตรทางนิวเคลียร์ และความสัมพันธ์กับ (เกาหลีใต้) เช่นกัน เป็นการเสนอ (ความสัมพันธ์) อย่างเป็นทางการด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ" นารังกล่าว

"เรามุ่งมั่นที่จะช่วยปกป้องเกาหลีใต้อย่างเต็มความสามารถ" เขากล่าวเสริม

เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยูน ซุก ยอลกล่าวที่การประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้ยกระดับสู่ "พันธมิตรทางนิวเคลียร์"

เขากล่าวว่าศักยภาพทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ​ จะถูกระบุให้สามารถนำมาใช้ในภารกิจบริเวณคาบสมุทรเกาหลี ภายใต้เเนวทางปฏิบัติฉบับใหม่ที่ทั้งสองประเทศมีความตกลงกัน

เมื่อสัปดาห์ที่เเล้ว ที่มีการประชุมสุดยอดของกลุ่มนาโต้ที่กรุงวอชิงตัน ในการหารือนอกรอบปธน.ยูนได้พบกับปธน.สหรัฐฯ โจ ไบเดน

ทั้งคู่ได้ยืนยันถึงการปฏิบัติตามคำ "ประกาศวอชิงตัน" เมื่อปีที่เเล้ว ซึ่งวางแนวทางของทั้งสองประเทศในการพูดคุยกันที่ลึกขึ้นและเเบ่งปันข้อมูลเพื่อเพิ่มความแข็งเเกร่งต่อความพยายามป้องปรามความขัดเเย้งในคาบสมุทรเกาหลีด้วยศักยภาพทางนิวเคลียร์

พัฒนาการของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลในเกาหลีใต้ ที่มีต่อบทบาทของสหรัฐฯ ที่จะช่วยป้องปรามความขัดเเย้งในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่รัสเซียและเกาหลีเหนือลงนามความร่วมมือทางกลาโหมกัน ซึ่งระบุว่ารัฐบาลมอสโกเต็มใจที่จะร่วมมือทางทหารอย่างเต็มรูปแบบกับเปียงยาง

ในเวลาเดียวกัน ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากขึ้นเรียกร้องให้ประเทศของตนมีอาวุธนิวเคลียร์เอง โดยระบุว่าความสัมพันธ์ด้านนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ไม่พอเพียงต่อการป้องกันประเทศ หากเกาหลีเหนือร่วมมือกับรัสเซียในการเปิดฉากโจมตี

  • ที่มา: วีโอเอ