สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจสังคมในประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มส่งสัญญาณตึงเครียดหนักขึ้นตั้งแต่เปิดศักราชปี ค.ศ. 2023 เนื่องจากวิกฤตพลังงานที่ยังดำเนินอยู่และผลกระทบจากสงครามในยูเครนที่กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 11 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ล้วนกลายมาเป็นบททดสอบเกี่ยวกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและพลังของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มนี้แล้ว
ในปีที่ผ่านมา อียูประกาศดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อกรุงมอสโกถึง 8 รอบ และจัดสรรงบประมาณเพื่อความช่วยเหลือทางทหารและทางมนุษยธรรมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งยอมเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนนับล้านคนด้วย
สงครามที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซียนี้ยังกลายมาเป็นจุดสิ้นสุดของการที่อียูต้องพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ หันไปหาแหล่งพลังงานและซัพพลายเออร์รายใหม่ และต้องทำการสั่งสมสำรองก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในช่วงฤดูหนาวด้วย
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งครั้งนี้กลายมาเป็นข่าวร้ายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางพลังงานของยุโรป อย่างน้อยในระยะสั้น ทั้งยังทำให้เป้าหมายของกลุ่มในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องเลื่อนออกไป เพราะบางประเทศหันกลับมาเปิดการทำเหมืองถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานอีกครั้ง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่า อียูน่าจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ แม้ว่า รัฐบาลต่าง ๆ จะพยายามหามาตรการมารองรับแรงกระแทกจากสถานการณ์ที่ว่า แต่ราคาสินค้าและระดับความยากจนในหลายพื้นที่ก็ยังพุ่งขึ้นสูงต่อไป
ซามูเอล คอปเปนส์ โฆษกขององค์กรการกุศล Salvation Army ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ทางองค์กรรู้สึกว่าเป็นปัญหาหนักในเวลานี้คือ การที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงบรรดานักเรียน-นักศึกษา ที่ไม่มีเงินใช้ให้อยู่รอดถึงสิ้นเดือนได้ ขณะที่ พ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้สูงอายุที่มีเงินบำนาญน้อยนิดไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าระบบทำความร้อน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อาหาร
ผลการสำรวจความคิดเห็นโดยสถาบัน IFOP ในฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสกว่าครึ่งหนึ่งที่ตอบแบบสอบถามชุดล่าสุดกลัวว่า รายได้ของตนจะไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือนในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ 1 ใน 4 เชื่อว่า ตนจะต้องยอมไปพึ่งองค์กรการกุศล เช่น Salvation Army ในไม่ช้านี้แล้ว
วาเลอรี ซึ่งเป็นชาวแคเมอรูนที่มาทำงานด้านสาธารณสุขในฝรั่งเศส คือ คนหนึ่งที่เพิ่งลงชื่อขอรับความช่วยเหลือจาก Salvation Army เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน และบอกกับ วีโอเอ ว่า ตัวเธอไม่ได้เห็นด้วยกับสงครามนี้ตั้งแต่ต้น และเชื่อว่า ผลกระทบจากสถานการณ์นี้จะยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ถูกจัดว่ายากจนที่สุด
ส่วน โซฮรา ผู้อาศัยอยู่ในกรุงปารีสและไม่ขอเปิดเผยนามสกุลของเธอ บอกว่า เธอไม่เคยคิดเลยว่า จะต้องมาพึ่งองค์กรแห่งนี้ แต่ก็ต้องทำหลังเธอตกงานเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
โซฮรา ให้ความเห็นว่า เวลานี้ ราคาของทุกอย่างกำลังพุ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า ค่าไฟ ค่าก๊าซ และค่าโทรศัพท์ และแสดงความกังวลว่า ผู้คนไม่น่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่างเช่นที่เธอประสบอยู่ไปได้อีกนานนัก
และขณะที่ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจัดส่งเครื่องปั่นไฟไปให้ยูเครนที่อยู่ในภาวะลำบากเพราะไม่มีพลังงานใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน เนื่องจากรัสเซียโจมตีและทำลายส่วนการผลิตพลังงานหลายจุดของประเทศไป ประชาชนในบางประเทศสมาชิกกลุ่มกลับต้องเตรียมตัวรับสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นกันแล้ว อย่างเช่น ในเยอรมนี ที่ประชาชนเริ่มสะสมเทียนไขไว้ในบ้านกันแล้ว และชาวฟินแลนด์ที่ขับรถพลังงานไฟฟ้าก็ได้รับการร้องขอให้อย่างเพิ่งเปิดเครื่องทำความร้อนในรถจนกว่าจะเข้าไปนั่งเรียบร้อยแล้ว
ที่ฝรั่งเศส ซึ่งปกติเป็นประเทศผู้ส่งออกไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ราวครึ่งหนึ่งกำลังปิดทำการชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมอยู่ และทางการก็ขอร้องให้ประชาชนและภาคธุรกิจปรับเครื่องบังคับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำไว้เพื่อจะช่วยประหยัดพลังงานและเลี่ยงเหตุไฟดับ
เธียร์รี โบรส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชาวฝรั่งเศส เชื่อว่า สถานการณ์จากนี้ไปน่าจะแย่ลงไปอีก และมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สงครามพลังงานจากรัสเซียที่หวังตียูเครนให้พ่าย และสั่นคลอนความสมัครสมานของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป
โบรส์ กล่าวว่า “ความจริงที่ว่า เรามีพลังงานใช้น้อยลง ความจริงที่ว่า ความมั่งคั่งของเรากำลังลดลง และเศรษฐกิจกำลังหันหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย ... อาจะทำให้ยูเครนอ่อนล้าลงได้” และว่า “ประชาชนชาวยุโรปจะต้องดูแลตัวเองก่อนแล้ว”
ในเวลานี้ สัญญาณความแตกแยกในยุโรปเริ่มปรากฏขึ้นบ้างแล้ว
นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี ซึ่งเคยใกล้ชิดกับรัสเซีย แนะนำว่า มาตรการลงโทษของอียูต่อมอสโกนั้นควรจะถูกยกเลิกได้แล้ว รวมทั้ง อียูควรระงับเงินช่วยเหลือแก่ยูเครนมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ไว้ชั่วคราวด้วย ขณะที่ โปแลนด์และเยอรมนีก็มีการโต้เถียงว่า จะติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออตไว้ที่ใดบ้าง
นักวิเคราะห์กล่าวเสริมว่า ความแตกแยกภายในอียูยังเกิดขึ้นในเรื่องของภัยคุกคามจากรัสเซียและความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างยุโรปและมอสโกด้วย โดยความเห็นที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้จากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส ที่ว่า ชาติตะวันตกควรพิจารณา “การรับรองด้านความมั่นคง” ให้กับรัสเซีย หากมอสโกตัดสินใจกลับยอมมาเจรจาในอนาคต กลายมาเป็นประเด็นที่บางประเทศออกมาต่อต้านทันที
เซบาสเตียน เมย์ลาร์ด จาก Jacques Delors Institute ในกรุงปารีส กล่าวว่า จุดนี้แสดงให้เห็นถึงการมองต่างมุมกัน เพราะขณะที่ หลายประเทศ โดยเฉพาะโปแลนด์ ประเทศในแถบทะเลบอลติก และคาบสมุทรบอลข่าน มองว่า การต่อสู้กับรัสเซียครั้งนี้ ก็คือ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตน หลายประเทศในกลุ่มชาติตะวันตกกลับไม่ได้มองเช่นนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เอียน เลสเซอร์ รองประธาน German Marshall Fund กล่าวเสริมว่า ยุโรปอาจต้องเผชิญบททดสอบอีกครั้งในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่ยูเครนจะต้องทำการฟื้นฟูประเทศและต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติเพิ่ม ซึ่งตนคิดว่า ฝ่ายอเมริกันน่าจะพยายามผลักดันหนักขึ้นให้ยุโรปเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
- ที่มา: วีโอเอ