เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เดินทางเยือนประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิด ที่กรุงมินสก์ โดยทำเนียบเครมลินปฏิเสธว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นความพยายามของผู้นำรัสเซียที่จะดึงประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เข้ามาร่วมทำสงครามในยูเครน
และในการเดินทางเยือนเดียวกันนี้ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ผ่านมานั้น บรรดาชาติตะวันตกประสบความล้มเหลวที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียด้วย:
"ความพยายามเหล่านี้ (ที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย) ไม่ได้ผลเลย ความพยายามที่เสียเปล่าเหล่านี้ของบรรดาชาติตะวันตกไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่างแต่อย่างใด"
คำกล่าวเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด
แม้รัสเซียจะยังคงเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่การลงมติของยูเอ็นหลายต่อหลายครั้งเพื่อประณามการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียนั้นได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่ทุกครั้ง นอกจากนั้น รัสเซียยังถูกระงับการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือ กลุ่มจี-7 ด้วย ขณะที่ ตัวประธานาธิบดีรัสเซียเองก็ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี-20 ที่อินโดนีเซีย และมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จากชาติตะวันตกยังทำให้จีดีพีและงบประมาณของรัสเซียหดหายอย่างหนัก โดยรายงานข่าวที่ระบุว่า มีเพียงอิหร่านเท่านั้นที่ตกลงใจช่วยจัดหาเสบียงยุทโธปกรณ์ให้รัสเซีย
การโดดเดี่ยวรัสเซียโดยยูเอ็นและกลุ่มจี-20
ความจริงที่ว่า รัสเซียถูกโดดเดี่ยวแล้วนั้นดูมีความชัดเจนอย่างมากในการลงมติของยูเอ็นหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่เกิดสงครามรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะสมาชิกส่วนใหญ่แสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครนและไม่ยอมรับการกระทำของรัสเซีย โดยมีเพียงไม่กี่ประเทศซึ่งกำลังเผชิญมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก เช่น เกาหลีเหนือและซีเรีย ที่ยังสนับสนุนรัสเซียในการลงมติของยูเอ็น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นมีมติเรียกร้องให้รัสเซียถอนทัพออกจากอาณาเขตของยูเครนและยกเลิกการตัดสินใจยอมรับการประกาศอิสรภาพของพื้นที่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนเรียกว่าเป็น สาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์และลูฮันสก์ ด้วย
ในการลงมติครั้งนี้ มีประเทศสมาชิก 141 ประเทศ (77.9%) เห็นชอบและ 35 ประเทศของดออกเสียง ขณะที่ 5 ประเทศ (2.76%) ซึ่งรวมถึงรัสเซีย เบลารุส เอริเทรีย เกาหลีเหนือ และซีเรีย ออกเสียงคัดค้านมติดังกล่าว โดยทั้งหมดนี้ล้วนถูกระบุรายงานดัชนีประชาธิปไตยโดยหน่วยงาน Intelligence Unit ของสื่อ The Economist ในอังกฤษว่า เป็น รัฐเผด็จการ
ต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นมีมติที่สองเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารของตนออกจากยูเครนอีกครั้ง พร้อมแสดงความกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ และประณามกองทัพรัสเซียที่โจมตีเป้าหมายซึ่งเป็นพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของยูเครนด้วย โดยมตินี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 140 ประเทศสมาชิก และมี 38 ประเทศของดออกเสียง ขณะที่ 5 ประเทศที่เคยคัดค้านมติก่อนหน้า ก็ยังคงคัดค้านมติใหม่นี้ต่อไป
และในวันที่ 12 ตุลาคม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นประกาศว่า การทำประชามติของรัสเซียในเขตปกครองดอแนตสก์ เคอร์ซอน ลูฮันสก์ และซาปอริซห์เชีย และความพยายามผนวกควบรวมพื้นที่ดังกล่าวเข้ากับตน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยยูเอ็นยังเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ อย่ายอมรับว่าอาณาเขตดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้วด้วย
นอกจากนั้น ยูเอ็นยังเรียกร้องให้รัสเซีย “ถอนกำลังทหารทั้งหมดของตนออกจากพรมแดนอาณาเขตของยูเครนที่นานาประเทศยอมรับ ทันที โดยสมบูรณ์ และอย่างไม่มีเงื่อนไข” โดยมตินี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 143 ประเทศสมาชิก และมี 35 ประเทศงดออกเสียง รวมทั้ง 5 เสียงคัดค้าน
ต่อมาในวันที่ 2 พฤศจิกายน คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นปฏิเสธคำร้องของรัสเซียให้เริ่มการสืบสวนอย่างเป็นทางการตามคำกล่าวอ้างของมอสโกว่า สหรัฐฯ และยูเครนร่วมมือกันในโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพที่ผิดกฎหมาย โดยมีเพียงจีนเท่านั้นที่สนับสนุนร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งรัสเซียเป็นผู้ร่างขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่ อีกสามประเทศ อันได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ออกเสียงคัดค้าน และประเทศสมาชิกอื่น ๆ อีก 10 ประเทศงดออกเสียง
นิโคลาส เดอ ริวิแอร์ ผู้แทนถาวรฝรั่งเศสประจำยูเอ็น เรียกร่างมติของรัสเซียว่า เป็น “การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้คนเข้าใจผิด:
“ผลลัพธ์ของการออกเสียงในวันนี้ ชัดเจน กล่าวคือ รัสเซียนั้นถูกโดดเดี่ยวไปแล้ว ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา และคำโกหกของรัสเซียก็ไม่ได้ผลกับใครเลย ฝรั่งเศสออกเสียงคัดค้านร่างมติที่รัสเซียนำเสนอเพราะฝรั่งเศสปฏิเสะที่จะยอมให้คณะมนตรีความมั่นคงกลายมาเป็นที่สำหรับการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ ถ้าหากคำพูดต่าง ๆ ไม่มีความหมายเสียแล้ว ถ้าหากความจริงและคำโกหกมีสิทธิเท่าเทียมกัน การทูตก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป”
ในเดือนพฤศจิกายน ปธน.ปูติน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี-20 ที่เกาะบาหลี โดยก่อนการจัดงานดังกล่าวราว 1 เดือน ชาติตะวันตกทั้งหลายส่งสัญญาณว่า ไม่มีใครต้องการเห็นปูตินที่งานนี้ โดยมีความพยายามใช้แรงกดดันทางการทูตใส่อินโดนีเซียให้ถอนคำเชิญผู้นำรัสเซียมาร่วมงานด้วย
ก่อนหน้านั้น ในเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกกับผู้สื่อข่าว Politico ว่า ทุกฝ่าย “กำลังทำทุกทางให้มั่นใจว่าประธานาธิบดีอเมริกันจะไม่พบกับประธานาธิบดีรัสเซียตามโถงทางเดิน หรือแม้แต่ในระหว่างการถ่ายภาพหมู่ผู้นำ”
ในรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม Politico ระบุว่า วิลเลียม เทย์เลอร์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน กล่าวว่า:
“เรารู้ว่า ปธน.ไบเดน คิดอะไรอยู่เกี่ยวกับปธน.ปูติน : เขา(ไบเดน) คิดว่า เขา(ปูติน) คือฆาตกร ... เขา(ไบเดน) คิดว่า เขา(ปูติน) คืออาชญากรสงคราม”
และการประชุมสุดยอดผู้นำจี-20 ก็จบลงในวันที่ 16 พฤศจิกายน พร้อมกับการประณามสงครามในยูเครนโดยรัสเซีย:
“สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง และย้ำว่า เรื่องนี้ทำให้เกิดความทุกข์จากของผู้คนอย่างมากมาย ทั้งยังทำให้ความบอบบางของเศรษฐกิจโลกที่กำลังดำเนินอยู่รุนแรงขึ้นด้วย”
ประเทศสมาชิก BRICS และ CIS ตีตัวออกห่างจากมอสโก
พันธมิตรของรัฐบาลมอสโกในกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นองค์กรรัฐบาลระหว่างประเทศที่ประกอบด้วย บราซิล จีน อินเดีย รัสเซียและแอฟริกาใต้ แสดงความพร้อมที่จะซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาที่มีส่วนลด 40% แต่ก็ร่วมกับชาติตะวันตกในการดำเนินมาตรการลงโทษการซื้อขายอาวุธกับมอสโกด้วย
ทั้งนี้ รัสเซียเริ่มสูญเสียอิทธิพลในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ Commonwealth of Independent States (CIS) ด้วย เช่นในกรณีของ คาซัคสถาน ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นคู่ค้าของรัสเซียที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเบลารุส และกลับมายกระดับความสัมพันธ์กับจีนและตุรกี พร้อมแสดงจุดยืนเคารพมาตรการลงโทษและต่อต้านรัสเซีย ทั้งยังยอมรับบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนภายในเขตแดนที่ประชาคมโลกรับรู้อยู่ด้วย
รัสเซียถูกกันออกจากองค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มา องค์กรระหว่างประเทศหลายสิบแห่งทบทวนแผนความร่วมมือของตนกับสหพันธรัฐรัสเซียกันถ้วนหน้า ซึ่งนำไปสู่การยุติหรือการระงับสมาชิกภาพของมอสโกไปแล้ว อาทิ Bologna Process และ Barents Euro-Arctic Council รวมทั้ง Danube Commission และ Council of the Baltic Sea States และ World Tourism Organization และ International Gas Union และ International Paralympic Committee ด้วย
หนึ่งในองค์กรสำคัญที่กันรัสเซียออกจากกลุ่มคือ Council of Europe ซึ่งมีสมาชิก 46 ประเทศที่มีประชากรรวมกันราว 675 ล้านคน โดยมีการออกแถลงการณ์ มื่อวันที่ 15 มีนาคมว่า “สหพันธรัฐรัสเซียเลือกจะพึ่งการใช้กำลังมากกว่าการพูดจาและวิธีทางการทูตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นการละเมิดบรรทัดฐานทางศีลธรรมและกฎหมายที่ส่งเสริมให้รัฐทั้งหลายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นยังถอดรัสเซียออกจากรายชื่อสมาชิกคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยธรรม เพราะ “การละเมิดอย่างใหญ่หลวงและเป็นระบบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ในยูเครน
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รัสเซียยังไม่ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) เพราะรัสเซียละเมิดอาณาเขตทางอากาศของยูเครนและถูกกล่าวหาว่า ทำการยึดโดยผิดกฎหมายเครื่องบินต่างชาติที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและสายการบินของรัสเซียเช่าซื้อไว้หลายร้อยลำ
รัสเซียถูกโดดเดี่ยวทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร
นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ แนวร่วมชาติตะวันตกที่มีขนาดจีดีพีรวมกันเกินกว่า 50% ของจีดีพีโลก ซึ่งรวมถึง สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย สั่งดำเนินมาตรการลงโทษต่าง ๆ มากมายต่อรัสเซีย
มาตรการลงโทษต่าง ๆ นั้นพุ่งเป้าไปยังด้านพลังงานและการเงินของรัสเซีย รวมทั้งเพื่อสกัดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีของตะวันตก และจัดการกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรดาคนชั้นนำของรัสเซีย โดยมาตรการทั้งหมดทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจของรัสเซียโดยปริยาย และรายงานของ Congressional Research Service ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมรวมรวมผลกระทบต่าง ๆ ออกมา โดยมีตัวอย่างคือ:
· ธุรกิจการเงินของรัสเซียสูญเงินไปหลายแสนล้านดอลลาร์
· กองทัพรัสเซียมีปัญหาไม่สามารถส่วนประกอบสำคัญเพื่อมาใช้ในสงครามได้
· โรงงานรัสเซียจำนวนมากต้องพักการผลิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงชิ้นส่วนที่ผลิตในต่างประเทศได้
· บริษัทที่ได้รับผลกระทบหลายแห่งต้องปรับให้พนักงานของตนทำงานในตารางพาร์ทไทม์หรือไม่ก็พักงานไปเลย
· บริษัทนานาชาติและของสหรัฐฯ หลายร้อยแห่งถอนธุรกิจออกจากตลาดรัสเซีย
· น้ำมันของรัสเซียถูกซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด
นอกจากนั้น ผลกระทบจากมาตรการลงโทษต่าง ๆ ยังทำให้รัสเซียไม่สามารถชำระหนี้ในต่างประเทศได้ จนทำให้รัฐบาลรัสเซียผิดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศส่วนหนึ่งของตนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 มา
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ