Your browser doesn’t support HTML5
โครงการความร่วมมือระหว่างหอดูดาวซีกฟ้าใต้ของยุโรป (European South Observatory) หรือ ESO กับกลุ่ม Breakthrough Initiative นี้ เป็นโครงการที่ครอบคลุมการศึกษาหลายส่วนด้วยกัน
โดยอันดับเเรก ทางหอดูดาว ESO จะต้องระบุให้ได้เสียก่อนว่ามีดาวเคราะห์กี่ดวงในระบบดวงดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ประเภทใด
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ในปี ค.ศ. 2019 ทาง ESO จะเริ่มใช้กล้องส่องดูดาว Very Large Telescope ที่มีกำลังสูงมาก เพื่อศึกษาดาวเคราะห์ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้าอย่างละเอียด
กลุ่มดาวคนครึ่งม้าหรือ Alpha Centauri เป็นกลุ่มดาวนอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลกเราไปเพียง 4.3 ปีเเสง ระบบดาวนี้กลายเป็นข่าวที่น่าสนใจเมื่อปีที่แล้ว หลังจากทีมนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์เหมือนโลกที่ชื่อว่า Proxima B โคจรรอบๆ ดาวฤกษ์ Proxima Centauri หนึ่งในดาวฤกษ์สามดวงในระบบ
ดาวฤกษ์อีกสองดวงในระบบเป็นดาวฤกษ์แฝดชื่อว่า Alpha Centauri A กับ Alpha Centauri B ดาวฤกษ์ทั้งสองดวงนี้โคจรรอบกันเเละกันครบหนึ่งรอบทุก 79 ปี มีระยะทางห่างจากกันเท่ากับระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพลูโต
นักดาราศาสตร์ต่างเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีดาวเคราะห์อื่นๆ อีกมากมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างดาวฤกษ์ทั้งสามดวงในระบบดาวคนครึ่งม้านี้
โครงการความร่วมมือนี้ตกลงที่จะสนับสนุนเงินทุนในการปรับปรุงอุปกรณ์ส่องดูดาวของหอดูดาวซีกฟ้าใต้ของยุโรป เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาดาวเคราะห์เหล่านี้ในระบบดาวคนครึ่งม้า ซึ่งเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้อาจมีสภาพเเวดล้อมที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
หลังจากเสร็จสิ้นการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในกลุ่มดาวคนครึ่งม้าเเล้ว หากพบว่ามีอยู่จริง ระยะต่อไปของโครงการความร่วมมือนี้จะเป็นการส่งยานสำรวจขนาดจิ๋วออกไปสำรวจดาวเคราะห์เหล่านี้ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญมากเรียกว่า starshot เป็นการส่งยานสำรวจอวกาศขนาดจิ๋วจำนวนมากออกไปยังนอกโลก ใช้พลังงานจากเเสงเลเซอร์
บรรดานักฟิสิกส์อย่าง Stephen Hawking บอกว่าโครงการยานสำรวจขนาดจิ๋วนี้มีความเป็นไปได้ในคนรุ่นปัจจุบัน เเละหากเป็นไปได้หรือเกิดขึ้นจริงๆ จะมีการส่งยานสำรวจขนาดเท่ากับที่คลิปติดกระดาษจำนวนหลายร้อยหรือหลายพันลำออกไปยังกลุ่มดาวคนครึ่งม้า โดยใช้เวลาเดินทางนาน 20 ปี กว่าจะไปถึงจุดหมาย
ยานสำรวจขนาดจิ๋วเเต่ละลำจะมีอุปกรณ์สื่อสารทันสมัย มีกล้องถ่ายภาพเเละเเบตเตอรี่นิวเคลียร์ ทีมงานชี้ว่าเทคโนโลยีย่อส่วนนี้จะมีขนาดเล็กพอที่จะติดลงไปบนยานสำรวจจิ๋วที่มีน้ำหนักเเค่หนึ่งกรัม และมีขนาดเท่ากับอากรเเสตมป์หนึ่งดวง
ยานสำรวจจิ๋วเเต่ละลำจะนำไปติดกับใบพัดพลังงานโซล่าที่ได้เเรงส่งจากเเสงเลเซอร์กำลังสูง ซึ่งจะช่วยให้ยานมีเเรงขับเคลื่อนสูงขึ้นไปได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ของความเร็วของเเสงจะกลายเป็นความเร็วที่สูงที่สุดเท่าที่เคยทำได้
การส่งยานสำรวจขนาดจิ๋วยังจะต้องใช้เวลาอีก 30-40 ปีกว่าจะเริ่มต้นขึ้นได้ แต่เเม้ว่าโครงการนี้อาจจะเจอกับอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดความล่าช้า สิ่งที่เเน่นอนที่สุดคือ หอดูดาวซีกฟ้าใต้ของยุโรปจะเริ่มต้นค้นหาดาวเคราะห์ในกลุ่มดวงดาวนอกระบบสุริยะที่ใกล้กับโลกเรามากที่สุดได้ภายในปี ค.ศ. 2020
(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)