'เวียดนาม' ขึ้นนั่งประธานอาเซียน รับมือความท้าทายและอิทธิพลจีน

Vietnam's Prime Minister Nguyen Xuan Phuc takes the gavel from Thai Prime Minister Prayuth Chan-Ocha who hands over the ASEAN chairmanship to Vietnam during the closing ceremony of the 35th ASEAN Summit and related summits in Bangkok, Thailand,…

Your browser doesn’t support HTML5

Vietnam Asean

เวียดนามจะขึ้นนั่งตำแหน่งประธานอาเซียนประจำปี พ.ศ. 2563 ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ รวมทั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในแถบทะเลจีนใต้

รัฐบาลเวียดนามจะเริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้เป็นต้นไป และจะมีอำนาจในการกำหนดวาระการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียนภายในปีหน้า

นักวิเคราะห์อาเซียนคาดว่า เวียดนามจะนำประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ระหว่างจีนกับหลายประเทศในอาเซียน ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในช่วงกลางปีหน้า และการประชุมระดับผู้นำในช่วงเดือนพฤศจิกายน

คุณตราน เหงียน ผอ.ศูนย์ต่างประเทศศึกษาที่ University of Social Sciences and Humanities ในนครโฮจิมินท์ ระบุว่า เวียดนามสามารถได้ประโยชน์จากจากการเป็นประธานอาเซียน ในการผลักดันประเด็นทะเลจีนใต้ให้เป็นวาระสำคัญอันดับต้น ๆ ในการประชุม ดังนั้นเชื่อว่าในปีหน้าเราจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้มากขึ้นบนเวทีอาเซียน

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า สิ่งแรกที่เวียดนามจะทำก็คือการสรา้งเอกภาพในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ในเรื่องที่เกี่ยวกับจีนและผลประโยชน์ของอาเซียนเอง

ที่ผ่านมาเวียดนามคือประเทศที่มีท่าทีชัดเจนที่สุดในการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ท่าทีโดยรวมของสมาคมอาเซียนยังคงนิ่งเฉยต่อประเด็นนี้ ซึ่งเป็นเพราะมีบางประเทศที่ต้องพึ่งพาจีนในด้านการค้าและเศรษฐกิจ

ในการประชุมอาเซียนครั้งที่แล้ว ที่ประชุมได้มีแถลงการณ์ขอให้เกิด "สันติภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง" ในทะเลจีนใต้ แต่มิได้เรียกร้องให้มีการกระทำใด ๆ โดยเฉพาะเพื่อจัดการกับปัญหานี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการประชุมผู้นำอาเซียนในปี 2563 อาจจะแตกต่างออกไป

คอลลิน โก นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางทะเล แห่งมหาวิทยาลัย Nanyang Technological ในสิงคโปร์ เชื่อว่า รัฐบาลจีนน่าจะมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องทะเลจีนใต้เมื่อเวียดนามได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียน และอาจนำไปสู่การจัดการอุปสรรคต่าง ๆ ต่อการจัดทำ Code of Conduct หรือ "ระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้" ที่ติดขัดมานานหลายปี

ขณะที่คุณตราน เหงียน เชื่อว่าในที่สุดแล้ว เวียดนามอาจตัดสินใจร่วมมือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในภารกิจลาดตระเวณในทะเลจีนใต้ด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์คาร์ล เธเยอร์ แห่ง University of New South Wales ออสเตรเลีย ชี้ว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศที่สนับสนุนจุดยืนของจีน เช่น ลาว และกัมพูชา จะคอยทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้อาเซียนมีแถลงการณ์ร่วมในเชิงตำหนิต่อต้านจีนในปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เวียดนามจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทบาทหน้าที่ในฐานะประธานอาเซียนนั้นแม้จะมีอำนาจทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

อาจารย์คาร์ล เธเยอร์ ยังเชื่อด้วยว่า จีนเองน่าจะเป็นฝ่ายเข้าหาเวียดนาม และอาจยินดีให้มีการจัดทำ Code of Conduct ในปี 2563 นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากอื่นตามมาในภายหลัง