นักวิชาการมองว่าถึงแม้บางประเทศในประชาคมอาเซียน เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ จะอึดอัดกับการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ผู้นำประเทศเหล่านี้ น่าจะตั้งความหวังไว้ว่าในที่สุด จีนจะยอมลงนามใน Code of Conduct หรือ ประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอีกในพื้นที่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
คาร์ล เธย์เยอร์ (Carl Thayer) อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย New South Wales ประเทศออสเตรเลียมองว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นการประชุมที่ต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างมาก เพราะหลายชาติในอาเซียนยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนอยู่
แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนที่จะออกมาจึงน่าจะเป็นไปตามกรอบ คือจะพูดถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านทะเลจีนใต้ และการจัดการกับข้อพิพาทอย่างสันติ โดยจะเลี่ยงไม่ชี้นิ้วกล่าวโทษประเทศจีนโดยตรง
ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย คือสี่ประเทศในประชาคมอาเซียนที่มีข้อพิพาทกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ พื้นที่ขนาด 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งประมงและแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อุดมสมบูรณ์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ถมที่ในทะเลจีนใต้ เพื่อสร้างเกาะขนาดเล็กสำหรับใช้เป็นฐานทัพทหาร ในปีนี้ เรือสำรวจของจีนใช้เวลาหลายเดือนเพื่อสำรวจน่านน้ำบริเวณเดียวกับที่เวียดนามสำรวจหาเชื้อเพลิงใต้ทะเล ข้อมูลจากสถาบันค้นคว้าวิจัยแห่งหนึ่งพบว่า เรือรักษาการณ์ชายฝั่งของจีนไปตระเวนในน่านน้ำที่มาเลเซียอ้างความเป็นเจ้าของถึง 258 วันในรอบปี นอกจากนี้ เมื่อต้นปี ยังมีการนำเรือจีนหลายร้อยลำไปล้อมเกาะขนาดเล็กหลายแห่งที่ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของอีกด้วย
นายเธย์เยอร์กล่าวว่า แถลงการผู้นำอาเซียนปีนี้อาจจะกล่าวถึงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ และตอกย้ำความตั้งใจของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกับจีนในการร่างประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้
หากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง รู้สึกว่า จีนไม่ได้ตกเป็นเป้าของการโจมตี จีนก็อาจจะพยายามผลักดันให้มีการออกประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ออกมาภายในปี พ.ศ. 2563 แต่นักวิเคราะห์มองว่าการร่างข้อตกลงอะไรก็ตามที่มีผลบังคับทางกฎหมายเพื่อจัดการกับข้อพิพาทที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของชาติ ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ด้านนาย ตรุง เหงียวน (Trung Nguyen) คณบดีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์ กล่าวว่า เวียดนามน่าจะต้องการให้มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากขึ้นในคำแถลงท้ายการประชุม และน่าจะอยากใช้เวทีอาเซียนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ และประณามการกระทำของจีน
แต่เขามองว่า กัมพูชา อาจจะขวางไม่ให้ประชาคมอาเซียนกล่าวโทษจีน ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะกัมพูชาเป็นประเทศพันธมิตรของจีน และรับเงินช่วยเหลือจากจีนหลายร้อยล้านดอลล่าร์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาในประเทศ
ส่วนท่าทีฟิลิปปินส์ ยังคาดเดาได้ยาก จริงอยู่ว่าคนฟิลิปปินส์รู้สึกหวาดระแวงต่อการที่จีนขยายอำนาจและขอบเขตเข้ามายังหมู่เกาะ สแปรทลีย์ (Spratley Islands) ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ยังเคยเรียกร้องให้มีการประท้วงการกระทำของจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากที่จีนได้เข้ามาใกล้ สันดอน Second Thomas Shoal ที่ฟิลิปปินส์ครอบครองอยู่
แต่ในช่วงหลังนี้ ผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ กลับทอดสะพานมิตรภาพให้จีน จนทำให้รัฐบาลปักกิ่งสัญญาว่าจะลงทุนและให้เงินช่วยเหลือฟิลิปปินส์กว่า 24,000 ล้านดอลล่าร์ และยังประกาศตกลงที่จะสำรวจน้ำมันใต้ทะเลร่วมกับฟิลิปปินส์
นักวิเคราะห์จึงมองว่า ฟิลิปปินส์ไม่อยากจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน แต่จะใช้เวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อเร่งรัดให้เกิดประมวลแนวการปฏิบัติในทะเลจีนใต้โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดเหตุเรือจีนชนกับเรือฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เธย์เยอร์กล่าวว่า เจ้าภาพอย่างไทยน่าจะใช้ถ้อยคำที่เป็นมิตรในแถลงการณ์ต่าง ๆ ที่จะมีออกมา แต่ในปีหน้า เขาคาดว่า เวียดนามจะสามารถใช้ความเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนโน้มน้าวประเทศสมาชิกได้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น น่าจะเป็นเรื่องยาก ที่จีนจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้