วิเคราะห์ความสัมพันธ์ "ยุคใหม่" ไทย - สหรัฐฯ เมื่อทรัมป์โทรศัพท์เชิญประยุทธ์เยือนทำเนียบขาว

FILE - Thailand's Prime Minister Prayuth Chan-ocha

Your browser doesn’t support HTML5

Thai US Trump


นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่หยุดนิ่งในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” หลังการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงของเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ ยังกล่าวเชิญพลเอกประยุทธ์ให้เดินทางเยือนทำเนียบขาวด้วย

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการพูดคุยระหว่างผู้นำไทยกับสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หลังจากที่หยุดนิ่งในช่วง 10 ปีผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หลังจากคณะทหารทำรัฐประหาร และรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลไทยว่าปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

รศ. ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ดูเหมือนรัฐบาลไทยไม่รีรอที่จะตอบรับคำเชิญของสหรัฐฯ เรื่องการเยือนทำเนียบขาว

"พลเอกประยุทธ์ได้ตกลงตอบรับคำเชิญของ ปธน.ทรัมป์ ทันที และว่าท่าทีของทางผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลไทยรออยู่แล้ว"

ขณะเดียวกัน รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรองนายกฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า

"การพูดคุยระหว่างผู้นำสองประเทศครั้งนี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ 'ยุคใหม่' ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย – สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่มีรากฐานจากความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ยาวนาน แต่เป็นการมุ่งมองไปที่ความร่วมมือที่ดีกว่าเดิมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต"

"และถือเป็นการก้าวผ่านยุคแห่งความสัมพันธ์ที่สูญหายไปในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งไทยกับสหรัฐฯ แทบจะไม่มีความร่วมมือสำคัญๆ ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคม"

ดร.ปณิธาน เชื่อว่า สหรัฐฯ มิได้ต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์เฉพาะกับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนก็เชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยได้พยายามหาทางฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่นานหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง

ด้าน ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภาของไทย ชี้ว่า

"การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่ายินดี และดูเหมือนจุดยืนเดียวของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน ที่ต้องการให้ไทยเร่งกลับสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยนั้น ได้หายไปพร้อมกับแนวทางใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์"

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามการเมืองหลายคน รวมทั้งคุณ Phil Robertson แห่งองค์กร Human Rights Watch ยังคงกังวลต่อนโยบายหรือแนวทางใหม่ของ ปธน.ทรัมป์ ที่ดูเหมือนจะลืมแก่นหรือหลักการเดิมของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และประเด็นทางสังคมอื่นๆ เป็นอันดับต้นๆ

"มีหลักฐานมากขึ้นว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังโยนหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทิ้ง ซึ่งขัดกับธรรมเนียมแต่เดิมด้านนโยบายต่างประเทศ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ปฏิบัติต่อกันมาหลายยุคสมัย"

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยนั้น มีฉากหลังคือความพยายามคานอำนาจของจีนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือทางการทูตด้วย

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben)