บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพสหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แสดงความกังวลต่อการใช้กำลังทหารเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นของการปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ท่ามกลางการประท้วงที่กำลังลุกลามในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการดูถูกเหยียดหยามสิทธิของประชาชนในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้นำประเทศอื่นที่ต้องการเห็นความขัดแย้งภายในสหรัฐฯ และฉุดให้กองทัพเข้าสู่ความแปดเปื้อนทางการเมืองมากยิ่งขึ้นพลเรือเอก ไมค์ มัลเลน
พลเอกโจเซฟ เลงเยล ผู้บัญชาการกองกำลังสำรองประจำรัฐ หรือ เนชันแนลการ์ด กล่าวว่า "ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เป็นคนอเมริกัน และเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ปฏิญาณไว้ในพิธีสาบานตน เราจะต้องไม่อดทนต่อการเหยียดผิว การเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรงต่าง ๆ"
เวลานี้ กองกำลังเนชันแนลการ์ดถูกเรียกไปประจำการใน 31 รัฐทั่วสหรัฐฯ เพื่อช่วยรับมือกับการประท้วงซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อกว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อน สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ระหว่างที่ถูกตำรวจจับกุมที่นครมินนีแอโปลิส
ด้านอดีตประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ พลเรือเอก ไมค์ มัลเลน ระบุในวารสารข่าว The Atlantic ว่า "ตนมีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของเหล่าคนในเครื่องแบบที่จะปฏิบัติงานด้วยความชำนาญที่มีอย่างเต็มที่ และจะปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย"
"แต่ตนไม่ค่อยเชื่อมั่นในความถูกต้องของคำสั่งที่พวกเขาจะได้รับจากประธานาธิบดีคนนี้ และยังไม่เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามท้องถนนในเมืองต่าง ๆ ขณะนี้จะร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้กำลังทหารของกองทัพเข้าควบคุมจัดการ" พลเรือเอกมัลเลนกล่าว
อเมริกาได้ประจักษ์กับผลของการขาดผู้นำที่มีวุฒิภาวะตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาแล้วพลเอก เจมส์ แมททิส
คำพูดของอดีตประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ ที่ปรากฎใน The Atlantic ระบุด้วยว่า ตนรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เห็นสมาชิกกองกำลังเนชันแนลการ์ดต้องใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เดินจากทำเนียบขาวไปยังโบสถ์ใกล้เคียงเมื่อวันอังคาร
"ไม่ว่าจุดประสงค์ของการเดินไปโบสถ์แห่งนั้นคืออะไร ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กระทำการดูถูกเหยียดหยามสิทธิของประชาชนในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้นำประเทศอื่นที่ต้องการเห็นความขัดแย้งภายในสหรัฐฯ และฉุดให้กองทัพเข้าสู่ความแปดเปื้อนทางการเมืองมากยิ่งขึ้น"
ด้านอดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พลเอก เจมส์ แมททิส เขียนไว้ในวารสารข่าว The Atlantic เช่นกันว่า "ตนไม่เคยคิดเลยว่าทหารที่ปฏิญานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญ จะถูกสั่งให้กระทำการที่ละเมิดสิทธิของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อเปิดทางให้มีการถ่ายรูปอย่างแปลกประหลาดของประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้นำของกองทัพยืนเคียงข้าง"
พลเอกแมททิส กล่าวว่า ตนโกรธและตกใจอย่างยิ่งตอนที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งมากขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ กับประชาชนในสังคมที่พวกเขาสมควรปกป้อง และยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น
อดีตรัฐมนตรีกลาโหมผู้นี้ยังได้ขอให้ประชาชนสร้างเอกภาพเพื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ พร้อมกับได้วิจารณ์ประธานาธิบดีทรัมป์ว่า "อเมริกาได้ประจักษ์กับผลของการขาดผู้นำที่มีวุฒิภาวะตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาแล้ว"
และว่า "โดนัลด์ ทรัมป์ คือประธานาธิบดีคนแรกในช่วงชีวิตของตน ที่ไม่เคยและไม่พยายามทำให้คนอเมริกันเป็นปึกแผ่น แต่กลับพยายามแบ่งแยกประเทศนี้"
พลเอกแมททิส ลาออกจากรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อปี ค.ศ.2018 สืบเนื่องจากความเห็นที่ขัดแย้งกับประธานาธิบดีทรัมป์เรื่องการถอนทหารออกจากซีเรียและนโยบายต่างประเทศอื่น ๆ