Your browser doesn’t support HTML5
นายอาลี อัคบาร์ ซาเลฮี ผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูของอิหร่าน เปิดเผยว่ารัฐบาลกรุงเตหะรานกำลังใช้เครื่องแยกสารยูเรเนียมหลายสิบเครื่องที่มีความทันสมัยและสามารถทำงานได้เร็วกว่าเครื่องรุ่นก่อน ซึ่งอิหร่านได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ JCPOA ที่ทำขึ้นในปี 2015 กับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ
และกำลังเร่งพัฒนาอุปกรณ์รุ่นใหม่ซึ่งจะช่วยให้อิหร่านสามารถแยกและเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมได้เร็วกว่าเดิมถึง 50 เท่าด้วย
แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐมีท่าทีในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าอิหร่านกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิด และเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันประนามอิหร่านในเรื่องนี้
โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐกล่าวว่า วอชิงตันมองพัฒนาการเรื่องนี้ว่าเป็นการขู่กรรโชกหรือแบล็กเมล์ทางนิวเคลียร์ ที่ละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ JCPOA ซึ่งอิหร่านได้ทำไว้ แต่รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวออกมาเมื่อปีที่แล้ว และกำลังพยายามกดดันให้อิหร่านยอมเจรจากับสหรัฐเพื่อทำข้อตกลงใหม่ที่เข้มงวดมากกว่าเดิม
โดยวอชิงตันมองว่า การประกาศความคืบหน้ารวมทั้งแผนการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อแยกสารยูเรเนียมนี้ เป็นความพยายามของรัฐบาลกรุงเตหะรานเพื่อกดดันให้กลุ่มประเทศในยุโรปที่ยังร่วมอยู่ในสัญญา JCPOA ยอมผ่อนปรนและปฏิบัติตามคำเรียกร้องของอิหร่านมากขึ้น เพื่อทดแทนมาตรการลงโทษจากสหรัฐ
ท่าทีล่าสุดของอิหร่านซึ่งเกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการบุกเข้ายึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานและจับเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐไว้เป็นตัวประกันนี้ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สหรัฐประกาศเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเช่นกัน
โดยในวันจันทร์ กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศมาตรการลงโทษชุดใหม่เพิ่มเติมจากมาตรการลงโทษเดิมกว่า 1,000 รายการที่ใช้กับการส่งออกน้ำมัน สถาบันธนาคาร การทำธุรกรรมด้านการเงิน และผู้นำทางทหารของอิหร่านมาแล้ว
มาตรการลงโทษใหม่นี้มุ่งเป้าไปที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการระดับสูงของอิหร่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านตุลาการ และบุตรชายของอยาโตลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิเคราะห์ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ อย่างเช่น คุณบาร์บารา ลีฟ อดีตทูตสหรัฐประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกิจการอิหร่านของกระทรวงการต่างประเทศนั้น นักวิเคราะห์ผู้นี้เห็นว่า นโยบายของสหรัฐเกี่ยวกับอิหร่านในปัจจุบันเป็นไปอย่างค่อนข้างสะเปะสะปะและไม่สอดคล้องในตัวเอง
รวมทั้งการแสดงออกด้านนโยบายของสหรัฐส่วนใหญ่มักจะทำผ่านทางทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมทั้งการแสดงความครุ่นคิดในที่สาธารณะที่ต้องการเจรจากับผู้นำอิหร่าน
อดีตนักการทูตสหรัฐผู้นี้ยังชี้ด้วยว่า การที่ประธานาธิบดีทรัมป์มักแสดงท่าทีว่าไม่ต้องการใช้กำลังกับอิหร่านนั้น ทำให้สหรัฐขาดมาตรการกดดัน และเป็นผลให้รัฐบาลกรุงเตหะรานไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตอบโต้ และยังช่วยเป็นแรงสนับสนุนการดำเนินตามกลยุทธ์ของอิหร่านด้วย เพราะอิหร่านเชื่อว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเจรจา