Your browser doesn’t support HTML5
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ จะเดินทางไปร่วมประชุม US-ASEAN ที่สิงคโปร์ และประชุมสุดยอดกลุ่ม APEC ที่ปาปัวนิวกีนี กลางเดือน พ.ย. นี้ โดยคาดว่าจะเป็นการนำยุทธศาสตร์ “การเปิดเสรี อินโด-แปซิฟิก” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ ไปหารือกับบรรดาผู้นำประเทศในเอเชีย
ในการประชุมสุดยอด US-ASEAN ที่สิงคโปร์ ในสัปดาห์นี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญประการหนึ่งของสหรัฐฯ คือยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” ที่รัฐบาลชุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำมาใช้แทนยุทธศาสตร์ “เอเชียเป็นศูนย์กลาง” หรือ “Asia Pivot” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน
หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” คือการตอบสนองต่อการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ทั้งในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว
มาร์ค มีลลีย์ (Marc Mealy) แห่งสภาธุรกิจ สหรัฐฯ – อาเซียน กล่าวว่า แนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่การค้าแบบทวิภาคีมากกว่าการจัดทำข้อตกลงแบบหลายประเทศ
ในด้านการลงทุน รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ได้จัดให้มีกองทุนเงินกู้เพื่อการพัฒนามูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ แก่ประเทศในเอเชีย ซึ่งคาดว่ารองประธานาธิบดีเพนซ์จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของกองทุนดังกล่าว ระหว่างการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้
เชื่อว่ากองทุนนี้มีขึ้นเพื่อแข่งขันกับโครงการ “หนึ่งถนน หนึ่งวงแหวน” ของจีน มูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแผ่ขยายครอบคลุมทั่วเอเชีย
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ก็เป็นประเด็นที่อยู่ในยุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐบาลกรุงวอชิงตันเช่นกัน
วิกรัม ซิงห์ (Vikram Singh) นักวิเคราะห์แห่ง US Institute of Peace ระบุว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และหลายประเทศ รวมทั้ง ออสเตรเลีย และอังกฤษ ต่างยืนยันสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว และท้าทายต่อการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งคาดว่าในการประชุมของรัฐมนตรีกลาโหมของเอเชีย-แปซิฟิก ก็จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารืออีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์อาจก่อให้เกิดความกังวลในประเทศแถบอาเซียนที่ต่างต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐฯ และจีน แต่ยังไม่แน่ใจว่าในที่สุดแล้ว สหรัฐฯ จะบังคับให้พวกตนต้องเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในความขัดแย้งระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งหรือไม่
ชาร์ลส์ คัพชาน (Charles Kupchan) แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ แต่ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศเพื่อนบ้านของจีน ที่ต้องเลือกว่าจะให้ความสำคัญกับมหาอำนาจประเทศไหนมากกว่ากัน
และเพื่อแสดงจุดยืนที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองฝ่าย พร้อมไปกับการผ่อนคลายความตึงเครียดในข้อพิพาททะเลจีนใต้ จีนและประเทศในอาเซียนได้ซ้อมรบร่วมกันครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ในขณะที่อาเซียนก็มีกำหนดจะซ้อมรบทางทะเลร่วมกับอเมริกาครั้งแรกในปีหน้าเช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Patsy Widakuswara รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)