ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'จีน - อาเซียน' บรรลุข้อตกลงจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติทะเลจีนใต้


FILE - A Chinese Coast Guard boat approaches a Filipino fishing vessel off Scarborough Shoal in the South China Sea, Sept. 23, 2015.
FILE - A Chinese Coast Guard boat approaches a Filipino fishing vessel off Scarborough Shoal in the South China Sea, Sept. 23, 2015.
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:56 0:00

จีนและสมาคมอาเซียนบรรลุข้อตกลงให้มีการจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ ที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลแห่งนี้

จีนและประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน 10 ประเทศ ได้เริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองเรื่องการจัดทำระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้มานานหลายปีแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดและควบคุมการทำกิจกรรมต่างๆ ในน่านน้ำแห่งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันของประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งในจำนวนนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และ มาเลเซีย ที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ วิเวียน บาลากริชนัน กล่าวในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนที่สิงคโปร์ ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเข้าร่วมประชุมด้วย โดยระบุว่า ความคืบหน้าในการจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการสร้างความมั่นคงในทะเลจีนใต้

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวง อี้ กล่าวว่า การรับรองร่างระเบียบปฏิบัตินี้ถือเป็น “ข่าวดี” และเป็น “ความก้าวหน้าครั้งใหญ่”

โดยก่อนหน้านี้ จีนได้แปรสภาพแนวปะการัง 7 แห่งในพื้นที่ขัดแย้งทางทะเลดังกล่าวให้กลายเป็นเกาะเทียม และได้สร้างทางขึ้นลงเครื่องบินสามแห่งและกลุ่มอาคารต่างๆ รวมทั้งยังติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธและอาวุธอื่นๆ บนเกาะเทียมนั้นด้วย

FILE - Chinese structures are pictured at the disputed Spratlys in South China Sea, April 21, 2017.
FILE - Chinese structures are pictured at the disputed Spratlys in South China Sea, April 21, 2017.

ในการหารือที่สิงคโปร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนได้มีแถลงการณ์ร่วม ยืนยันจุดยืนของอาเซียนในทะเลจีนใต้ว่า เกิดความกังวลต่อบางประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ที่ได้กัดกร่อนความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความตึงเครียดและอาจบ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวมิได้ระบุชื่อ “จีน” แต่อย่างใด

ที่ผ่านมา จีนตอบโต้ต่อคำวิจารณ์เรื่องการสะสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้ โดยอ้างว่าจีนมีสิทธิ์สร้างอะไรก็ตามบนดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน และจะปกป้องสิทธิ์ดังกล่าวในทุกวิถีทาง

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ส่งเรือลาดตระเวณและเครื่องบินไปยังพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้นหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการเดินทางทางเรือและทางอากาศอย่างเสรีผ่านน่านน้ำแห่งนี้

การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงกิจการในเอเชีย และยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ขึ้น

(ผู้สื่อข่าว Wayne Lee รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG