"โอกาสและอุปสรรค" ในการหางานของบัณฑิตต่างชาติที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในอเมริกา

บัณฑิตชาวต่างชาติมักเจออุปสรรคทางกฎหมายและการเลือกปฏิบัติหลังเรียนจบในอเมริกา

Your browser doesn’t support HTML5

US International Graduates

ผลการสำรวจโดยบริษัท Accenture บริษัทที่ปรึกษา ชี้ว่า 88 เปอร์เซ็นต์ของบัณทิตมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ที่จบการศึกษาในปีนี้ มีความมั่นใจว่าจะได้งานทำในสาขาที่เรียนมา ความมั่นใจนี้โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่เเล้ว 23%

คุณ David Smith ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดการแห่งบริษัท Accenture Strategy กล่าวว่า บัณทิตเหล่านี้วางแผนตั้งเเต่ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ว่าอยากทำงานด้านใดเมื่อเรียนจบ และมีการศึกษาตลาดงานล่วงหน้า

แต่นักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ กลับมีความเห็นต่อโอกาสการหางานทำในสหรัฐฯ หลังเรียนจากมหาวิทยาลัยที่นี่ต่างออกไป

Hua-Yu Sebastian Cherng อาจารย์สอนด้าน International Education แห่งมหาวิทยาลัย New York (NYU) กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า บัณฑิตต่างชาติประสบอุปสรรคปัญหาทางกฎหมายในการหางานทำในสหรัฐฯ หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่นี่

เพราะก่อนการว่าจ้าง บริษัทในสหรัฐฯ จะดูก่อนว่าบัณฑิตชาวต่างชาติมีใบอนุญาตทำงานในสหรัฐฯ หรือไม่

เขากล่าวว่า บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายราวหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นดอลล่าร์สหรัฐฯ หากต้องการปรับสถานภาพวีซ่านักศึกษาให้เป็นวีซ่าทำงานประเภท H1B ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถพิเศษเฉพาะทางของลูกจ้างชาวต่างชาติ ด้วยว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนในสหรัฐฯ หรือไม่

ทางบริษัทผู้ว่าจ้างต้องทำเรื่องร้องขอต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ให้อนุญาตปรับวีซ่าให้ลูกจ้างคนดังกล่าว ซึ่งโอกาสถูกปฏิเสธมีสูงมาก

ด้านคุณ Bingqing Zhou บัณฑิตสาขา International Education จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่าตนเองจำได้ถึงความเครียดที่เกิดขึ้นหลังจากจบการศึกษา บัณฑิตสาวชาวจีนคนนี้บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ไม่มีบริษัทใดต้องการว่าจ้างบัณฑิตชาวต่างชาติเข้าทำงาน เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการปรับสถานภาพเป็นวีซ่าทำงาน เพราะบริษัทเหล่านี้สามารถว่าจ้างบัณฑิตชาวสหรัฐฯ ได้ง่ายกว่าเพราะไม่ยุ่งยากทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม คุณ Zhou ได้รับใบเขียวที่อนุญาตให้อาศัยและทำงานในสหรัฐฯ อย่างถาวรในปีค.ศ. 2013 แต่เธอกล่าวว่าโอกาสด้านการงานยังจำกัดอยู่ เพราะตนเองพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ซึ่งบัณฑิตชาวต่างชาติคนอื่นๆ ก็ประสบกับข้อจำกัดเดียวกันนี้

คุณ Arely Cordova นักศึกษาด้าน International Education ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กบอกว่า เธอจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นในการอธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นแนวคิดเชิงนามธรรม

แต่คุณ Zhou บัณฑิตสาวชาวจีนกล่าวว่า แม้ว่าตนจะประสบกับอุปสรรคต่างๆในสหรัฐฯ แต่ก็เป็นอุปสรรคที่เอาชนะได้

และหากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานในอเมริกาอย่างที่เรียกกันว่า American Dream เธอจะต้องสร้างความมั่นใจให้เเก่ตนเองเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอุปสรรคที่ท้าทายเท่ากับอุปสรรคอื่นๆ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)