เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขยายตัว 2.9% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นพลวัติที่แสดงให้เห็นถึงการอ่อนตัวลง ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความกลัวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังใกล้เข้ามา จากรายงานของสำนักข่าวเอพี
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดรายงานในวันพฤหัสบดีที่แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมและเดือนธันวาคมของปีที่แล้วชะลอตัวลงจาก 3 เดือนก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัว 3.2% โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวต่อไปอีกในไตรมาสปัจจุบันก่อนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อน ๆ ในช่วงกลางปี
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายผู้บริโภคที่กลับมาคึกคักและการที่ภาคธุรกิจสั่งสินค้ามาเก็บไว้ในคลังอีกครั้ง ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐก็มีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ปรับขึ้นส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุนในธุรกิจสร้างบ้านหดตัวถึง 27% เป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี 2022 จีดีพีของสหรัฐฯ ขยายตัว 2.1% เทียบกับอัตราการเจริญเติบโต 5.9% ในปี 2021
มีการคาดกันว่าเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้จะประสบภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มุ่งหวังช่วยลดการขยายตัวและการใช้จ่าย พร้อม ๆ กับรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ
ในปีที่แล้ว Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงถึง 7 ครั้งและน่าจะตัดสินใจปรับขึ้นอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้าในอัตราที่ลดลงจากครั้งก่อน ๆ
และแม้ตลาดแรงงานในประเทศจะอยู่ในสภาพค่อนข้างดีอย่างน่าประหลาดใจและเป็นปัจจัยบวกให้กับภาวะเศรษฐกิจมาตลอดปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เตือนว่า สถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ อาจทำให้ทิศทางของเศรษฐกิจซวนเซได้ โดยเฉพาะเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันที่คุมเสียงข้างมากในสภาล่างอาจปฏิเสธไม่ยอมปรับขึ้นเพดานหนี้รัฐ ถ้ารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของฝ่ายตนให้ทำการปรับลดค่าใช้จ่ายโดยรวม เพราะหากไม่มีการปรับขึ้นเพดานหนี้ที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจประสบปัญหาผิดชำระหนี้และเสียเครดิตได้
Moody’s Analytics ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้จริง จะมีคนตกงานเกือบ 6 ล้านคนเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินปี 2007-2009
- ที่มา: เอพี