รักษาการทูตสหรัฐฯ ยืนยัน สหรัฐฯ บริจาควัคซีนไทย 2.5 ล้านโดส - ไม่มีบทบาทควบคุมการจัดสรรวัคซีนในไทย 

The United States has just donated 1.5 million doses of Pfizer’s COVID-19 vaccine to Thailand

รักษาการทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยัน สหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนเพิ่มให้ไทยอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส เหตุไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดหนัก ยังไม่ยืนยันว่าวัคซีนอีก 1 ล้านโดสจะเป็นสูตรใด ย้ำ สหรัฐฯ ไม่มีบทบาทควบคุมการแจกจ่ายวัคซีนในไทย แต่สนับสนุนการลงทะเบียนจัดสรรวัคซีนอย่างเป็นธรรม ไม่เน้นกลุ่มใดเป็นพิเศษ

เมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าร่้วมพิธีส่งมอบวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทย และถูกส่งมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเมื่อเวลา 4.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

รักษาการทูตฯ ยืนยันคำกล่าวของพันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ จะส่งวัคซีนให้แก่ไทยอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส โดยทางสหรัฐฯ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนอีก 1 ล้านโดสนี้จะผลิตจากบริษัทใด “แต่วัคซีนที่นำมาจะปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะได้รับการพิสูจน์ทางคลีนิค (ทดสอบกับมนุษย์ในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่) แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

“เดิมเราตั้งใจว่าจะบริจาควัคซีน 1.5 ล้านโดส แต่เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา รวมถึงสถานการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ เราจึงจะบริจาคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส” นายฮีธกล่าว

The United States has just donated 1.5 million doses of Pfizer’s COVID-19 vaccine to Thailand


เขายังเน้นด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่มีบทบาทในการควบคุมการจัดสรรวัคซีนในไทย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องดูแลเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า สหรัฐฯ “อยากเห็นการลงทะเบียนจัดสรรที่มีความยุติธรรมเท่าเทียมกัน ไม่ได้เน้นว่าจะให้กลุ่มใดเป็นพิเศษ” และ “สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ในไทยทุกคนควรเข้าถึงวัคซีนได้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือประประเทศต้นกำเนิด”

นายฮีธกล่าวว่า ทางสถานทูตได้ประสานและรับทราบจากรัฐบาลไทยว่า จะเน้นจัดสรรวัคซีนให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจาากโรคโควิด-19 เช่น บุคลากรด่านหน้า แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครที่ต้องดูแลผู้ป่วยโดยตรง ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ คำกล่าวของอุปทูตฮีธสอดคล้องกับมติคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ของไทย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ระบุว่า วัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมากที่สุดในล็อตนี้ จำนวน 700,000 โดส จะได้รับการจัดสรรเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศและยังไม่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้น

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวไทยรัฐรายงานเมื่อวันอังคารว่า ภาคีเครือข่ายทางการแพทย์ได้ยื่นหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ เพื่อขอให้กำกับรัฐบาลไทยเรื่องความโปร่งใสในการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้ โดยทางกลุ่มให้เหตุผลว่า “ตัวเลขการจัดสรรวัคซีนที่รัฐบาลชี้แจงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยากให้มีการเปิดเผยเรื่องความโปร่งใส ในเรื่องการนำวัคซีนไฟเซอร์ไปให้กลุ่ม VVIP เพราะมี่ข่าวลือค่อนข้างมาก” โดยทางกลุ่มเรียกร้องให้วัคซีนถูกจัดสรรไปยังบุคคลที่มีความเสี่ยงและจำเป็นที่สุด
รักษาการทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “เราไม่มีเงื่อนไขในการมอบวัคซีน เป็นวัคซีนให้เปล่า เหมือนที่เราบริจาควัคซีนให้อีกหลายประเทศ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะจัดสรรวัคซีนเอง”

“เราจึงยินดีเรียนให้ทราบว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นใช้วัคซีนนี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อาศัยในไทยทุกคน รวมถึงมุ่งเน้นจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงสูงสุด” เขากล่าว

Michael Heath quote

นอกจากนี้ เขายังระบุด้วยว่า “สหรัฐฯ สนับสนุนให้ผู้คนแสดงเสรีภาพในความคิดเห็นได้ การแสดงออกบางครั้งก็รวมถึงการวิจารณ์รัฐบาลดังที่เห็นในประเทศของผม เราอดทนต่อการวิจารณ์อันหลากหลายต่อรัฐบาล คำวิจารณ์บางส่วนก็สมเหตุสมผล คำวิจารณ์บางส่วนก็ไม่ แต่เราก็จะสนับสนุนให้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นนี้ต่อไป”

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดที่สืบเนื่องจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ห้ามผู้ใดเสนอข่าวหรือเผยแพร่ “ข้อความอันอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ข้อกำหนดที่ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนี้ ได้รับแรงต่อต้านจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนของไทย ซึ่งออกแถลงการณ์ร่วมขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แลเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดดังกล่าว “ไม่ให้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน”

ทั้งนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งเป้าแบ่งปันวัคซีน 80 ล้านโดสในระยะแรกไปทั่วโลกเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงวัคซีน 23 ล้านโดสในเอเชีย โดยนายไมเคิล ฮีธกล่าวว่า วัคซีนบริจาคจากสหรัฐฯ มายังไทย “มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยชีวิตทุกคน” และ “ทำให้ไทยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยเร็ว”