ธนาคารโลกแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำไปช่วยชำระหนี้มูลค่าราว 45,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการรับมือและป้องกันการระบาดของโควิด-19 อันรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านวัคซีนด้วย
รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลของ Hurun Rich List ที่รวบรวมรายชื่อผู้มีฐานะร่ำรวยทั่วโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์อยู่ถึง 52 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงกว่าอิตาลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ด้วย ขณะที่หลายรายเดินหน้าขยายความมั่งคั่งของตนเพิ่มอีกหลายเท่าในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 18,100 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลการจัดอันดับประจำปี 2021 ของนิตยสารฟอร์บส
ในทางกลับกัน ชาวไทยนับล้านคนตกอยู่ในภาวะว่างงานในเวลานี้ ขณะที่ภาระหนี้สินครัวเรือนพุ่งถึงระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไปแล้ว
ขณะเดียวกัน อัตราภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนนั้นยังอยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำ แม้แต่ภาษีนิติบุคคลที่จัดเก็บอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว มีเพียงสิงคโปร์และบรูไนเท่านั้นที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่า
นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ (Capital Gain) ด้วย
ภายใต้สภาวะหนี้พุ่งสูงและการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตา ขณะที่การแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นไปอย่างล่าช้านี้ ธนาคารโลกเตือนว่า รัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณากู้ยืมเงินจากธนาคารมาอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในไม่ช้านี้แล้ว
คิม เอ็ดเวิร์ดส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก แนะนำว่า รัฐบาลไทยน่าจะลองจัดเก็บรายได้เพิ่มจาก ”บุคคลที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง” และทำการปฏิรูป “มาตรการลดหย่อนแบบหน้าใหญ่ใจโต” บางรายการดูบ้าง เพราะว่า การจัดเก็บรายได้ภาษีบุคคลธรรมดานั้นไม่น่าจะเพียงพอเพื่อมาช่วยพยุงฐานะทางการเงินของรัฐ ดังนั้น การเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราภาษีช่วงบน และการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับกำไรจากการขายสินทรัพย์ น่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้
ทั้งนี้ ในรายงาน Thailand Economic Monitor – the Road to Recovery นั้น ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตรา 2.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หากสามารถเข้าควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ หลังจากมีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 2,938 คน และผู้ติดเชื้อใหม่ถึงกว่า 343,000 คนนับตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟาและเดลตากำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศอยู่