หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยเตรียมที่จะสั่งจำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทยา แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และผลิตในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีนสำหรับประชาชน
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ข้อเสนอจำกัดการส่งออกวัคซีนของไทยนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา สภาพการทำงานของโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรเพื่อดูแลผู้ป่วย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่อาจสะดุดลงได้
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจำกัดการส่งออกวัคซีนจริง ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลงนามสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตในไทยน่าจะมีปัญหาด้วย แม้ว่าบางรายอาจจะหันไปหาซื้อวัคซีนจากแหล่งอื่นได้
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนได้ตกลงเบื้องต้นที่จะออกคำสั่งชั่วคราวเพื่อจำกัดการส่งออก แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวมีออกมาโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ
บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้าของแต่เพียงพระองค์เดียว และเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เดิมมีกำหนดแจกจ่ายวัคซีนภายในประเทศไทยเป็นจำนวน 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่ออกมายอมรับเมื่อต้นเดือนว่า บริษัทจะสามารถส่งมอบได้เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น
ทั้งนี้ สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับอนุญาตจากแอสตราเซเนกาให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนของตน เพื่อนำส่งให้กับประเทศอื่นๆ อีก 8 ประเทศด้วย
รายงานข่าวระบุว่า หลายประเทศที่มีกำหนดรับวัคซีนจาก สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับแจ้งจากบริษัทว่าการนำส่งจะล่าช้ากว่ากำหนด ขณะที่ นพ.นคร กล่าวในวันพุธว่า แอสตราเซเนกา ควรจะจัดส่ง 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตออกมาได้ในแต่ละเดือนให้กับรัฐบาลไทย
ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนในไทยไปแล้ว 13.23 ล้านโดส โดยประชาชนจำนวนราว 9.88 ล้านคน หรือ 14.3 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรรวมจำนวน 69 ล้านคนในประเทศได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม
รัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะแจกจ่ายวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ให้แก่ประชากรราว 50 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ เพื่อบรรลุเป้าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีน รัฐบาลไทยได้เร่งเจรจาขอซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตรายอื่น นอกจากของแอสตราเซเนกา และของ ซิโนแวค (Sinovac) และ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จากประเทศจีน