เวแดนท์ แพเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าววีโอเอ กรณีมีผู้ไปประท้วงหน้าสถานทูตในกรุงเทพฯ ค้านท่าทีรัฐบาลวอชิงตันกรณีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า “เรากำลังจับตามองการประท้วงในพื้นที่”
ในการตอบคำถามสื่อมวลชนในวันจันทร์ แพเทลกล่าวด้วยว่า การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความมั่นใจในความเป็นประชาธิปไตยของไทย และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “กระทำการด้วยความยับยั้งชั่งใจ และร่วมกันหารืออย่างสร้างสรรค์”
รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “ผมจะไม่พูดถึงบทสนทนาทางการทูตในทางส่วนตัวที่มากไปกว่านั้น แต่เราเข้าหารัฐบาลไทยในเรื่องนี้ และเราจะยังคงทำเช่นนั้นต่อไป”
การตอบคำถามของแพเทล เป็นคำชี้แจงต่อคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่าข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคที่นำไปหาเสียงนั้นเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง
หลังคำวินิจฉัย แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า "สหรัฐฯกังวลอย่างลึกซึ้งต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทย” เป็นการลิดรอนสิทธิ์ผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรค และก่อให้เกิดคำถามต่อหลักการมีตัวแทนสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชนในระบบเลือกตั้ง
ท่าทีของสหรัฐฯ ตามมาด้วยกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่ง จากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) และกองทัพธรรม ไปชุมนุมและยื่นหนังสือที่สถานทูตสหรัฐฯ ที่ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานครในวันศุกร์ที่แล้ว เพื่อขอให้สหรัฐฯ หยุดก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทย อ้างอิงตามการถ่ายทอดสดของกลุ่ม ศ.ป.ป.ส.
ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระทำไปตามกลไกและหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ และไทยจะยังดำเนินตามค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิพลเมืองในฐานะรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า “เราเชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะเคารพในคำพิพากษา และร่วมกันนำประเทศไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป”
ตัวแทนทีมโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังตอบคำถามของวีโอเอภาคภาษาไทย ที่ถามว่าสหรัฐฯ มีนโยบายใดที่จะชักนำไทยไปบนเส้นทางที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้หรือไม่ โดยตอบว่า สหรัฐฯ จะยึดมั่นในความเป็นพันธมิตรระหว่างสองชาติ และจะสนับสนุนสถาบันทางประชาธิปไตย เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นนิติรัฐของไทย
“เรามีความชัดเจนทั้งในทางสาธารณะและในทางส่วนตัว ว่าความเห็นอันแตกต่างระหว่างพลเมืองไทย ภาคประชาสังคม และพรรคการเมือง เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเกิดการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในไทย” ทีมโฆษกกล่าว
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ไม่ต้องการคาดการณ์ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบกับอนาคตความสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐฯ และไทยหรือไม่ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ยาวนาน และยังมีจุดที่ร่วมมือกันได้ แต่รัฐบาลวอชิงตันจะยังแสดงความกังวลไปยังไทย ว่าการยุบพรรคก้าวไกลนั้นสร้างความเสียหายให้ประชาธิปไตย
หนึ่งวันหลังจากนั้น มิลเลอร์เลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าสถานการณ์ในไทยจะกระทบต่อข้อตกลงซื้อขายเครื่องบินรบ F-16 กับไทยหรือไม่ โดยระบุว่า "เป็นนโยบายของเราที่จะไม่เเสดงทัศนะเกี่ยวกับการส่งอาวุธที่อาจเกิดขึ้น หรือยังอยู่ในกระบวนการ ก่อนที่สภาคองเกรสจะอนุมัติโครงการเหล่านั้น"
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เคยมีท่าทีเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในไทยหลายครั้ง ซึ่งท่าทีในประเด็น ม.112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินคดีดังกล่าว เคยถูกต่อต้านจากชาวไทยที่มีแนวคิดนิยมสถาบันกษัตริย์ นำมาซึ่งการชุมนุมหน้าสถานทูตและร้องเรียนให้ตำรวจสืบสวนการกระทำของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยด้วย
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มักมีการชุมนุมเพื่อแสดงออกเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในไทยอยู่เสมอ เช่น การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2552 หลังถูกรัฐบาลสลายการชุมนุม การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 เพื่อชี้แจงข้อเรียกร้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การชุมนุมของกลุ่มนิยมสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 ที่กล่าวหาว่าสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งต่อมาสถานทูตฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง
ในวันที่ 14 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดอ่านคำวินิจฉัยกรณีว่านายกรัฐมนตรีของไทย เศรษฐา ทวีสิน ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งหรือไม่ จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความที่เคยถูกศาลสั่งจำคุกขึ้นเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากคำวินิจฉัยเห็นว่านายเศรษฐาขาดคุณสมบัติ ก็อาจนำมาซึ่งแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองระลอกใหม่
- ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ไทยโพสท์, ผู้จัดการออนไลน์, ไอ.เอ็น.เอ็น, บีบีซีไทย