ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กต.สหรัฐฯเลี่ยงตอบดีล F-16 กับไทยกระทบหรือไม่ หลังก้าวไกลโดนยุบ


เครื่องบินเอฟ-16 ที่กองทัพยูเครนใช้ 4 ส.ค. 2024
เครื่องบินเอฟ-16 ที่กองทัพยูเครนใช้ 4 ส.ค. 2024

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เลี่ยงตอบคำถามผู้สื่อข่าววีโอเอ ในวันศุกร์เรื่องการหารือโครงการเครื่องบินรบใหม่ของกองทัพไทย หลังจากที่รัฐบาลอเมริกันและคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย อย่างรวดเร็วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันพุธ

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่าดีลเครื่องบินรบ F-16 กับประเทศไทย ได้รับผลกระทบหรือไม่จากกรณีที่ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกล ทีมโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบว่า "เป็นนโยบายของเราที่จะไม่เเสดงทัศนะเกี่ยวกับการส่งอาวุธที่อาจเกิดขึ้น หรือยังอยู่ในกระบวนการ ก่อนที่สภาคองเกรสจะอนุมัติโครงการเหล่านั้น"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงท่าทีอย่างต่อเนื่อง ต่อกรณีที่ก้าวไกลโดนสั่งยุบพรรค

โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เเมทธิว มิลเลอร์
โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เเมทธิว มิลเลอร์

เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เเมทธิว มิลเลอร์ ว่า "เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยมีช่วงขาขึ้นและขาลงด้านประชาธิปไตย..คุณประเมินความสัมพันธ์ (สหรัฐฯ - ไทย) อย่างไรต่อไปจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบกับความร่วมมือกับประเทศหรือไม่"

โฆษกมิลเลอร์ตอบว่า "ผมไม่ต้องการคาดเดาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพวกเขาในหลายเรื่อง และสามารถทำงานร่วมกันได้ในหลายเรื่องที่เรามีผลประโยชน์อยู่ และที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เรากังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นก้าวที่ทำร้ายประชาธิปไตย เเละเราจะยังคงแสดงความกังวลอย่างชัดเจนทั้งต่อสาธารณะและเป็นการส่วนตัวต่อรัฐบาลไทย"

หนึ่งวันก่อนหน้านั้นกระทรวงฯ กล่าวในเเถลงการณ์ว่า "สหรัฐฯ ไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในฐานะพันธมิตรและเพื่อนที่ใกล้ชิดซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและคงทนยาวนาน เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการเพื่อยืนยันให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใดอย่างสมบูรณ์ และปกป้องประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพของการรวมกลุ่มกันและการเเสดงออก"

เสียงวิจารณ์จากสหรัฐฯ เกิดขึ้นขณะที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่ไทยได้รับพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทอเมริกันที่ต้องการขายเครื่องบินรบให้ไทย

ทั้งนี้สื่อ Janes ที่รายงานข่าวกลาโหมของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมว่า ในเวลานี้ทางการไทยตัดสินใจที่จะซื้อเครื่องบินรบใหม่ และบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐฯ ได้สื่อสารให้เห็นถึงศักยภาพที่สำคัญและการใช้งานได้ยาวนานของเครื่องบินรบรุ่น F-16 Viper Block 70/72 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า F-16V Block 70/72

ไอมี เบอร์เน็ตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของฝ่ายพัฒนาธุรกิจกลุ่มงาน Integrated Fighter ของล็อคฮีด มาร์ติน ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Janes ว่าคุณสมบัติของเครื่องบินรบรุ่นดังกล่าวจะเหมาะสมกับสิ่งที่กองทัพอากาศไทยกำลังมองหา หากเกิดการซื้อ F-16 รุ่นดังกล่าว ยุทโธปรกรณ์ใหม่นี้จะถูกนำมาแทนที่รุ่น F-16A/Bs ที่ถูกใช้มานาน ภายใต้โครงการที่มีกำหนดระหว่างปีพ.ศ. 2568 - 2577

เบอร์เน็ตต์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ Janes เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมว่าบริษัทได้เสนอรุ่น F-16V Block 70/72 ให้กับไทย เพราะว่าสามารถยืดระยะเวลาใช้งานได้นานมากขึ้น และมีอุปกรณ์เซนเซอร์รุ่นใหม่ นอกจากนี้ล็อคฮีด มาร์ตินเสนอเงื่อนไขสัญญาซื้อที่สามารถกำหนดรายละเอียดให้เหมาะสมแตกต่างกันไปต่อลูกค้าแต่ละราย

สำนักข่าว The Standard ของไทยรายงานเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่านอกจากการพิจารณาข้อเสนอของล็อคฮีด มาร์ตินเเล้ว กองทัพอากาศไทยยังสนใจ ยุทโธปกรณ์การบินของบริษัทซาบ (Saab) จากสวีเดน ซึ่งผลิตเครื่องบิน Gripen E/F อีกด้วย

นักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไทย เรื่องผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จากการยุบพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แนวทางยกระดับแรงกดดันรัฐบาลไทย อาจต้องคำนึงถึงเป้าหมายที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันต้องการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ด้วย

เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า “ตราบใดที่ไทยยังมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็คงไม่ต้องการกดดันผู้นำไทยมากจนเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะภูมิรัฐศาสตร์ทุกวันนี้ที่มีความกังวลว่าไทยใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และนั่นเป็นปัจจัยที่จะกำหนดแนวทางของรัฐบาลต่างชาติที่มีต่อไทย”

แน่นอนว่าจากนี้สหรัฐฯ จะเฝ้ามองการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด และวางท่าทีการทูตเคียงคู่ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ โดยวุฒิสมาชิกเบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯกล่าวผ่านแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า “สภาคองเกรสจะคอยประเมินดูว่าพัฒนาการล่าสุดต่าง ๆ ในไทยนั้นจะกระทบความเป็นหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีของสหรัฐฯ และไทยเพียงใด”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG