วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติอนุมัติร่างกฎหมายที่มีผลให้เหตุฆาตกรรมใดๆ ก็ตามที่เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาติ เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีในข้อหาว่าด้วย Hate Crime หรือ ‘อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง’ ที่มีกฎหมายระดับประเทศรับรองแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า สภาสูงสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่ชื่อ Emmett Till Anti-Lynching Act เมื่อช่วงค่ำของคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา หรือ 1 สัปดาห์ หลังร่างกฎหมายนี้ได้รับอนุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ 422 ต่อ 3
ชื่อของร่างกฎหมายนี้ เป็นชื่อของ เอ็มเมตต์ ทิลล์ (Emmett Till) วัยรุ่นชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 14 ปี ที่ถูกทรมานก่อนจะถูกสังหารในรัฐมิสซิสซิปปี เมื่อปี ค.ศ. 1955 และเหตุการณ์ดังกล่าวยังได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ หรือ Civil Rights Movement ในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ด้วย
ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายกว่า 200 ฉบับที่มีการนำเสนอต่อสภาคองเกรสมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1900 ที่จุดมุ่งหมายจะทำให้การลงประชาทัณฑ์และสังหารด้วยการแขวนคอ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับชาวอเมริกันผิวสีทั่วประเทศ กลายมาเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มีกฎหมายรัฐบาลกลางรับรอง
ข้อมูลจาก National Association for the Advancement of Colored People (NAACP) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง ระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1882 ถึง ปี ค.ศ. 1968 มีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันถูกรุมประชาทัณฑ์และถูกจับแขวนคอกว่า 4,700 คน ขณะที่ข้อมูลจากกลุ่ม Equal Justice Initiative สรุปว่า มีชาวอเมริกันผิวสีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวระหว่างปี ค.ศ. 1865 และ ค.ศ. 1950 ถึงเกือบ 6,500 คน
เมื่อปี ค.ศ. 2020 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการลงประชาทัณฑ์แขวนคอออกมา หลังเกิดเหตุฆาตกรรม อาห์หมอด อาร์เบอรี (Ahmaud Arbery) โดยชายชาวอเมริกันผิวขาว 3 คนในรัฐจอร์เจีย แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกสกัดไว้ในสภาสูง โดย วุฒิสมาชิก แรนด์ พอล ซึ่งอ้างว่า กฎหมายนี้จะส่งผลให้คดีอาชญกรรมที่มีโทษเบากว่าอื่นๆ ถูกจัดให้อยู่ในคดีว่าด้วยการลงประชาทัณฑ์แขวนคอ
และหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงนามเพื่อให้กฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวกับการลงประชาทัณฑ์ตามบทบัญญัติของ Emmett Till Anti-Lynching Act จะต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 30 ปี
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี