รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แพท แชนาแฮน และเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงคนอื่นๆ เตือนว่า อิหร่านเตรียมพร้อมก่อการโจมตีทั่วตะวันออกกลาง โดยมุ่งเป้าไปที่สหรัฐฯ และพันธมิตร ทำให้สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจส่งทหารเข้าไปเสริมในตะวันออกกลาง
รมต.แชนาแฮน กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะกำลังเดินทางไปร่วมประชุมด้านความมั่นคงประจำปี แชงกรีลา ที่สิงคโปร์ ว่ามีรายงานข่าวกรองที่ระบุถึงภัยคุกคามอย่างผิดปกติจากอิหร่านในตะวันออกกลาง ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นรายงานที่เชื่อถือได้
ขณะเดียวกันที่กรุงวอชิงตัน ประธานคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมของสหรัฐฯ พลเอกโจเซฟ ดันฟอร์ด ยืนยันว่า มีข่าวกรองที่ระบุถึงการรณรงค์เพื่อเตรียมการโจมตีในหลายพื้นที่ ตลอดจนภัยคุกคามในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่เยเมน ไปจนถึงอิรัก และแถบอ่าวเปอร์เซีย
พลเอกดันฟอร์ด กล่าวอ้างการก่อวินาศกรรมต่อเรือขนส่งน้ำมันนอกชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งการโจมตีด้วยโดรนและจรวดไม่ไกลจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอิหร่านอยู่เบื้องหลังเช่นกัน
และในวันพุธเช่นกัน นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว กล่าวขณะเยือนกรุงอาบูดาบี ว่าอิหร่านคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีนอกชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างแทบไม่ต้องสงสัย
ต่อมาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายโบลตันว่าเป็นเรื่อง "ไร้สาระ"
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน รุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศการตัดสินใจที่จะตัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลงทั้งหมด และเพิ่มมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอื่นๆ ต่ออิหร่าน พร้อมไปกับการเพิ่มกิจกรรมทางทหารในตะวันออกกลาง
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐฯ จะส่งทหารอีก 1,500 คนไปสมทบกับกองทัพอเมริกันในตะวันออกกลาง เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากอิหร่าน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐฯ ผู้หนึ่ง ชี้แจงว่า จำนวนทหาร 1,500 นาย ที่ ปธน.ทรัมป์ระบุนั้น ประกอบด้วย 900 นายที่เป็นทหารซึ่งส่งไปใหม่ และ 600 นายเป็นทหารที่ประจำการอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว แต่ยืดระยะเวลาประจำการออกไป
และก่อนหน้านี้ กองเรือที่ 5 ของสหรัฐฯ เพิ่มการลาดตระเวณ และการปฏิบัติการทางนาวีในทะเลอาราเบียน และกองทัพอเมริกันยังส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Abraham พร้อมด้วยเรือ USS Arlington และเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ไปประจำการในตะวันออกกลางด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน โมฮัมหมัด จาว้าด ชารีฟ กล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากระหายสงคราม และว่าการที่รัฐบาล ปธน.ทรัมป์ นำมาตรการลงโทษกลับมาใช้กับอิหร่านนั้น คือ "การก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ"