'ทรัมป์' ขึ้นพูดที่การประชุมใหญ่สหประชาชาติครั้งแรก กระตุ้นปฏิรูปยูเอ็นครั้งใหญ่!

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นกล่าวปราศรัยที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในวันจันทร์ ซึ่งถือเป็นการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งแรกของ ปธน.ทรัมป์

ผู้นำสหรัฐฯ เร่งเร้าให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ภายในองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้องค์กรแห่งนี้สามารถสนับสนุนสันติภาพทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น

ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่า สหประชาชาติจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนทั่วโลกกลับคืนมา ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อสหประชาชาติต้องสร้างความรับผิดชอบในการบริหารในทุกระดับ ปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูลการกระทำผิดในองค์กรใดๆ ก็ตาม หรือ Whistleblower และมุ่งไปที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ

ปธน.ทรัมป์ ระบุว่า ที่ผ่านมาสหประชาชาติยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขนาดองค์กรที่ใหญ่โตเทอะทะ และระบบการทำงานที่ล้าสมัย ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ กระตุ้นให้เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ นายแอนโตนิโอ กูเตียเรซ ใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อปฏิรูปองค์การสหประชาชาติให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น

คำกล่าวของ ปธน.ทรัมป์ ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากพิธีลงนามของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปสหประชาชาติที่มีนายกูเตียเรซเป็นผู้ผลักดัน

President Donald Trump participates in a photo before the beginning of the "Reforming the United Nations: Management, Security, and Development" meeting during the United Nations General Assembly, Monday, Sept. 18, 2017

​ด้านนายแอนโตนิโอ กูเตียเรซ เลขาธิการใหญ่ UN กล่าวต่อที่ประชุมว่า สหประชาชาติจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมาก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ คือหนึ่งในผู้ที่กล่าววิจารณ์สหประชาชาติมาโดยตลอด โดยบอกว่า UN ไม่ใช่พันธมิตรของประชาธิปไตยและสหรัฐฯ

ปธน. ทรัมป์ มีกำหนดขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวันพรุ่งนี้ คือวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ

ภายหลังการกล่าวปราศรัยที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในวันจันทร์ ปธน. ทรัมป์ ได้พบหารือกับนายกฯ อิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮู และได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังการหารือว่า ตนมีความมั่นใจว่า มีโอกาสที่จะเกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้น

ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่าทั้งผู้นำอิสราเอล และผู้นำปาเลสไตน์ ต่างต้องการให้ข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้น เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามถึงข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจ 5 ประเทศ ทำไว้กับอิหร่านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่ามีโอกาสจะเดินหน้าต่อหรือไม่นั้น ปธน.ทรัมป์ กลับเลี่ยงที่จะตอบคำถาม และบอกว่าให้รอดูต่อไป